วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๑๑.พระอาคันตุกะ


       สำหรับภิกษุผู้มิได้อุปสมบทในวัดหนองป่าพงหรือสำนักสาขา แต่มีศรัทธาปรารถนาจะเข้ามาสู่วิถีชีวิตพระกรรมฐานในวัดป่า ความหวังนั้นอาจเป็นจริงได้ เพราะประตูวัดหนองป่าพง เปิดกว้างสำหรับผู้มีศรัทธาและมีจิตใจมั่นคงเด็ดเดี่ยวอยู่เสมอ แต่ในขณะเดียวกันประตูที่เปิดกว้างนั้น อาจจะกลับเป็นประตูที่ปิดตายสำหรับผู้ไม่มีศรัทธา มีจิตใจเรรวน ไร้ความเข้มแข็งอดทน

     ภิกษุผู้มาจากถิ่นอื่น มีความประสงค์จะมาดำรงชีวิตในป่าพง จำเป็นต้องผ่านการทดสอบ การฝึกฝน เพื่อลดมานะละทิฏฐิเสียก่อน คณะสงฆ์จะจะรับเข้าหมู่

     ในวันแรกพระอาคันตุกะจะถูกจัดให้พักอยู่ที่ธรรมศาลา อันเป็นสถานส่วนรวมที่ผ่านไปมาของผู้คนจากทั่วสารทิศ ซึ่งมาชมวัดอยู่เสมอในเวลากลางวัน แต่มันจะกลับกลายเป็นสถานที่สงบ วิเวกวังเวง น่าสะพรึงกลัวแก่ผู้ไม่คุ้นเคยในเวลากลางคืน พระอาคันตุกะต้องพักอยู่ที่นั้น โดยไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะนานเท่าไร

     สำหรับกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ เช่น การไปบิณฑบาต การรับแจกอาหาร พระอาคันตุกะต้องเดินและรับต่อจากพระพรรษาน้อยที่สุดของสำนัก และมีอาสนะสำหรับนั่งฉันอาหาร ฉันน้ำปานะจัดแยกไว้ต่างหาก การตั้งกติกาเช่นนี้ เพื่อให้พระอาคันตุกะได้สังเกตข้อวัตรปฏิบัติของสำนักก่อนว่าประพฤติกันอย่างไร

     บางครั้งพระอาคันตุกะอาจถูกตักเตือน ขณะกระทำบางอย่างผิดต่อระเบียบวินัยของวัด เช่น ส่งเสียงดัง จับต้องหารที่ยังไม่ได้รับประเคน นั่งห้อยเท้าบนอาสนะ เป็นต้น และต้องช่วยการงานทุกอย่างที่พระสามารถทำได้

     พระอาคันตุกะต้องอยู่ในสภาพเช่นนี้ จนกว่าต่างฝ่ายต่างพึงพอใจในการประพฤติปฏิบัติของกันและกัน คือพระอาคันตุกะมีความพอใจในข้อวัตรกติกาต่าง ๆ ของสำนัก มีความอดทนพากเพียร ไม่หวั่นไหว ไม่ย่อท้อ ยินดีอยู่เพื่อการศึกษาปฏิบัติต่อไป และครูอาจารย์ได้เห็นว่าพระอาคันตุกะเป็นผู้มีศรัทธา มีความมุ่งมั่นต่อระเบียบข้อวัตรปฏิบัติจริง ก็จะรับเข้าหมู่ โดยมีการเปลี่ยนบริขารต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามธรรมวินัย ต่อจากนั้น ก็อนุญาตให้เข้าร่วมอุโบสถสังฆกรรมต่าง ๆ และอยู่ร่วมกับภิกษุสามเณรวัดหนองป่าพงได้เป็นปกติ