วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๒๖.วันโกน


          วัน ๗ ค่ำและ ๑๔ ค่ำ เป็นกำหนดการรวมกันซักผ้าจีวรที่โรงย้อม ซึ่งสร้างขึ้นเป็นโรงเรือนโปร่งโล่ง มีเตาและกระทะขนาดใหญ่สำหรับต้มเคี่ยวแก่นต้นขนุน เพื่อใช้ซักและย้อมจีวร และวัน ๑๔ ค่ำนี้ เป็นวาระปลงผมของภิกษุสามเณรด้วย

หลังอาหารในวันโกน ภิกษุสามเณรนำผ้าจีวรของตนและของครูอาจารย์ไปยังโรงย้อม แล้วก่อไฟตักน้ำใส่กระทะ สับแก่นขนุนให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อช่วยให้ได้สีที่ดีและเป็นการประหยัด แก่นขนุนที่ใช้ต้มแล้ว จะถูกนำกลับมาใช้อีกหลายครั้ง เพราะเป็นสิ่งที่หาได้ยากพอสมควร สีจากการต้มเคี่ยวแก่นขนุน เมื่อใช้ย้อมจีวรจะได้สีที่กลมกลืนกับธรรมชาติ ไม่ฉูดฉาดเหมาะแก่การนุ่งห่มของสมณะ


บริเวณโรงย้อม ถูกเก็บกวาดจัดเรียงฟืนให้เป็นระเบียบอยู่เสมอ และมีป้ายคำแนะนำการใช้เตาและกระทะ เพื่อยืดอายุการใช้งานให้ยาวนาน ที่เสาต้นหนึ่งในโรงย้อมมีคำพูดขนาบพระเณรของหลวงพ่อชาเขียนติดบนป้ายไว้ว่า “เอ้า วันนี้ย้อมผ้ากันนะ ก็ไปต้มแก่นขนุนกัน มีพระเณรบางองค์เห็นเพื่อนต้มเสร็จแล้ว เอาผ้าไปชุบ ๆ ย้อม ๆ แล้วหนีเลย กลับกุฏินอนสบาย ไม่ต้องต้มแก่นขนุน ไม่ต้องล้างกระทะ เขานึกว่าเขาฉลาด เขาสบาย คนคิดอย่างนี้ คือ คนโง่ที่สุด สร้างแต่ความโง่ความวิบัติใส่ตัวเอง กิจที่ควรทำแต่ไม่ทำ หลบหนีได้แหละดี นั่นแหละ คือ คนโง่ที่สุด”


ในวันโกนหยุดทำวัตรเย็น เพราะการซักผ้า และตากผ้าให้แห้งใช้เวลานานพอสมควร รวมทั้งภิกษุสามเณรมีเป็นจำนวนมาก การซักย้อมต้องรอคอยกันตามลำดับ เมื่อตากผ้ากว่าจะแห้งก็เป็นเวลาเย็นพอดี และวันนี้ทางสำนักแม่ชีจัดน้ำปานะมาถวายเป็นพิเศษ อาจมีสมอหรือมะขามป้อมกับพริกเกลือพ่วงท้ายมาด้วย ซึ่งจะสร้างความรู้สึกอันดีแก่ภิกษุสามเณรพอสมควร

ค่ำคืนในวันโกน เปลี่ยนบรรยากาศจากการประชุมกันมาเป็นการอยู่ผู้เดียวที่กุฏิ ซึ่งเป็นโอกาสที่ให้ความรู้สึกอีกแบบหนึ่งในความเป็นตัวของตัวเอง ภิกษุสามเณรอาจทำอะไรตามอัธยาศัย เช่น นั่งสมาธิ เดินจงกรมเงียบ ๆ อยู่ตามโคนไม้ หรือศึกษาพระธรรมวินัยจากหนังสือ และท่องบ่นสาธยายบทสวดมนต์และพระปาฏิโมกข์ เพื่อเพิ่มเติมพื้นฐานชีวิตสมณะให้มั่นคงขึ้นไป