วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๘.เป็นปะขาว


         “ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คุณค่าของตน” เมื่อนาคผ่านการทดสอบทรมานจิตใจ จนคลายความพยศ ลดความแข็งกระด้างลงไปบ้างแล้ว สามารถประพฤติปฏิบัติให้ประจักษ์แก่สายตาของครูอาจารย์ว่า เป็นผู้มีศรัทธา มีความมั่นคงในจิตใจพอสมควร ไม่บกพร่องในกิจวัตรต่าง ๆ ทั้งส่วนรวมและส่วนตัว มีความซื่อตรงไม้มายาสาไถย มีกิริยามารยาทอ่อนน้อมถ่อมตัว ก็จะได้รับอนุญาตให้นุ่งห่มสบงและอังสะสีขาว พร้อมกับรับศีล ๘ ไปเป็นข้อปฏิบัติ เพื่อควบคุมกายและวาจาให้สงบเรียบร้อย

    หน้าที่ในขณะเป็นปะขาว หรือนิยมเรียกกันว่า “ผ้าขาว” เน้นหนักไปทางด้านการปฏิบัติเรียนรู้ความเป็นอยู่อย่างสมณะ โดยฝึกหัดกันตั้งแต่ การนุ่งห่ม การตัดเย็บ ย้อมจีวร การบ่มบาตร การดูแลรักษาบริขารเครื่องใช้สอยเสนาสนะ การประเคนอาหาร ฯลฯ ตลอดจนการฝึกฝนให้ใช้อิริยาบถต่าง ๆ ให้อยู่ในสมณสารูป คือ ต้องมีความประพฤติกิริยาท่าทาง การพูดจา การนึกคิด ให้สมกับเป็นสมณะซึ่งแปลว่า “ผู้สงบ” พร้อมกับเรียนรู้การปฏิบัติทางจิต เพื่อให้เกิดความสงบของจิตใจ โดยการปฏิบัติภาวนาด้วยการนั่งสมาธิ เดินจงกรม และกำหนดสติตามรักษาจิตในทุกขณะ

    นอกจากนี้ ปะขาวต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการปรนนิบัติครูอาจารย์ ที่เรียกว่า “อุปัชฌายวัตร” และ “อาจริยวัตร” ซึ่งมีบัญญัติไว้ในพระวินัย กำหนดให้ศิษย์พึงกระทำแก่อุปัชฌาย์หรืออาจารย์ ในฐานะที่ท่านเป็นที่พึ่งพิงอาศัยของตน

   ปะขาวจะฝึกหัดอุปปัฏฐากครูอาจารย์ด้วยการรับบาตร ล้างบาตร ล้างกระโถน ล้างมือล้างเท้า ซักจีวร ทำความสะอาดกุฏิ ฯลฯ

    กิจเหล่านี้เป็นดั่งสะพานแห่งไมตรีจิต เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างศิษย์กับอาจารย์ให้เกิดความสนิทสนมคุ้นเคยไว้วางใจซึ่งกันและกัน อันจะเป็นประโยชน์แก่ปะขาว เพราะจะได้รับคำแนะนำพร่ำสอนด้วยเมตตาธรรมจากครูอาจารย์ ผู้ซึ่งผ่านการใช้ชีวิตพระกรรมฐานมาก่อน เป็นเหตุให้ปะขาวได้รับความรู้ความเข้าใจในการดำเนินชีวิตภายในวัดเป็นอย่างดี