วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๒๔.ฉันน้ำปานะ


           เวลาประมาณ ๑๗ นาฬิกา เสียงระฆังสัญญาณบอกเวลาฉันน้ำมานะจะดังขึ้น ภิกษุสามเณรจะหยุดและปล่อยวางภารกิจที่กำลังทำอยู่โดยพร้อมเพรียงกัน แล้วมานั่งบนอาสนะที่ระเบียงโรงฉันเรียงตามลำดับอายุพรรษาเพื่อฉันน้ำปานะ ทุกรูปจะมีความรู้สึกกระปรี้กระเปล่าขึ้น หลังจากต้องเหน็ดเหนื่อยออกกำลังปฏิบัติภาระหน้าที่ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน น้ำปานะจะช่วยบรรเทาความหิวและความอ่อนเพลียให้ลดลงได้มาก รวมทั้งมีประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจ

น้ำปานะเป็นน้ำที่คั้นหรือได้มาจากผลไม้ ซึ่งภิกษุสามเณรดื่มได้ในเวลาวิกาล ในพระวินัยอนุญาตให้ใช้ผลไม้ขนาดผลมะตูมลงมาทำน้ำปานะ และกำหนดผลไม้สำหรับทำน้ำปานะไว้ดังนี้ มะม่วง ชมพู่หรือลูกหว้า กล้วยมีเม็ด กล้วยไม่มีเมล็ด มะซาง ลูกจันทน์ หรือองุ่น เหง้าบัว มะปราง ลิ้นจี่ และผลไม้อื่น ๆ ที่มีขนาดไม่ใหญ่กว่าผลมะตูม

บางโอกาส ภิกษุสามเณรจะได้ฉันสิ่งที่พระวิจัยกำหนดไว้ว่าเป็น “เภสัช” เพื่อเสริมแร่ธาตุบางอย่างแก่ร่างกาย เพราะพระมีชีวิตอยู่ได้เนื่องด้วยผู้อื่น อาหารการขบฉันก็แล้วแต่ชาวบ้านจะจัดนำมาให้ ไม่สามารถกำหนดเอาหรือแสวงหาได้ตามปรารถนา จึงอาจจะขาดธาตุอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ดังนั้น จึงมีพุทธานุญาตให้ภิกษุฉันสิ่งที่เรียกว่า “เภสัช” คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยได้


บางฤดูแม่ชีจะเก็บลูกสมอ มะขามป้อม มาถวายแก่ภิกษุสามเณรในวันโกน ๗ ค่ำ และ ๑๔ ค่ำ วันนั้นเป็นวันที่สดชื่นสำหรับภิกษุสามเณรพอสมควร แต่ก็อาจกลายเป็นวันที่อ่อนเพลียได้เช่นกัน หากไม่รู้ประมาณในการฉัน เพราะสมอและมะขามป้อมจะเปลี่ยนคุณสมบัติจากสิ่งเอร็ดอร่อย กลายเป็น “ยาถ่าย” ขนาดรุนแรงขึ้นมาทันที ถ้าฉันมากเกินไป

เมื่อเวลาฉันน้ำปานะและเภสัชผ่านพ้นไป ภิกษุสามเณรผู้มากด้วยความเสียสละ ซึ่งเป็นทั้งผู้แจกและผู้ล้าง จะทำความสะอาดกาและภาชนะต่าง ๆ แล้วคว่ำให้เรียบร้อย จากนั้นก็แยกย้ายกันไปสรงน้ำตามห้องน้ำส่วนรวมต่าง ๆ ที่อยู่ทั่วไปในบริเวณวัด หลังจากสรงน้ำเสร็จแล้ว เป็นเวลาของการเดินจงกรม เพื่อผ่อนคลายอิริยาบถอยู่เงียบ ๆ ที่ลานกุฏิ รอเวลาสัญญาณระฆังเพื่อร่วมกันทำวัตรเย็น