วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๒๐.ฉันอาหาร


         พระภิกษุสามเณรและผู้ปฏิบัติธรรมในวัดหนองป่าพง รับอาหารเพียงมื้อเดียวในแต่ละวัน และฉันเฉพาะในบาตร
การฉันอาหารในลักษณะอย่างนี้ เป็นหลักการปฏิบัติข้อหนึ่งของ “ธุดงควัตร” มีจุดมุ่งหมายให้รู้ประมาณในการบริโภค ไม่ตกเป็นทาสของความเอร็ดอร่อยจากรสชาดของอาหาร และเพื่อให้รู้ซึ้งถึงความเป็นจริงว่า อาหารทั้งหลายล้วนแต่เป็นสิ่งปฏิกูลโสโครก ได้มาจากซากพืชซากสัตว์ที่มนุษย์ไปเบียดเบียนเข่นฆ่ามา และเมื่อบริโภคเข้าไปในร่างกายแล้ว ก็กลับกลายเป็นสิ่งที่สกปรกเน่าเหม็นอย่างยิ่ง

เมื่อการรับอาหารแจกอาหารเสร็จสิ้นลง ภิกษุสามเณรก็จะนั่งสงบ เพื่อสำรวมจิตพิจารณาอาหารก่อนฉัน โดยมีหลักพิจารณาว่า “เราฉันอาหารนี้ไม่ใช่เพื่อมัวเมา แต่เพื่อความตั้งอยู่ได้แห่งกายนี้เท่านั้น และจะไม่ฉันให้มากจนอึดอัด หรือไม่ฉันน้อยเกินไปจนไม่มีแรงปฏิบัติสมณกิจได้”


จากนั้นเสียงสวดมนต์อนุโมทนากถา หรือที่เรียกว่า “ให้พร” แก่ญาติโยมผู้เสียสละบริจาคอาหาร ก็ดังขึ้นพร้อมเพรียงกัน แล้วครูอาจารย์จะให้สัญญาณด้วยเสียงระฆังเพื่อให้เริ่มฉันอาหารได้
เสียงระฆังยามนี้เป็น “เสียงแห่งความสุข” โดยแท้ เพราะความหิวกระหายอันเป็นทุกขเวทนาอย่างหนึ่งทางร่างกาย จะถูกดับหรือบรรเทาลงด้วยอาหารภายในบาตร


ภิกษุสามเณรใช้เวลาฉันอาหารไม่เกิน ๓๐ นาที เมื่อฉันเสร็จ พระใหม่และสามเณรจะลุกขึ้นมาช่วยล้างมือให้แก่ครูอาจารย์ พร้อมกับนำบาตรและกระโถนของครูอาจารย์และพระอาวุโสไปวางไว้ด้านนอกโรงฉัน เพื่อเตรียมเอาไปล้าง


เมื่อเสียงระฆังดังขึ้นอีกครั้ง นั่นหมายความว่า เวลาสำหรับการฉันอาหารในวันนั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว
ภิกษุสามเณรทั้งหมดจะกราบพระพร้อมกัน แล้วนำบาตรและกระโถนไปล้าง ส่วนครูอาจารย์และพระอาวุโส ทำหน้าที่ปัดกวาดทำความสะอาดโรงฉัน