วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๑๙.รับ-แจก อาหาร


        เมื่อพระรับประเคนอาหารจากสามเณรหรือปะขาวแล้ว จะยกภาชนะที่ใส่อาหารทั้งหมดวางเป็นแถวไว้บนโต๊ะ จากนั้นครูอาจารย์ พระอาวุโส พระใหม่ สามเณร และปะขาว ก็เข้าแถวมารับอาหารใส่บาตรของตนตามลำดับอายุพรรษา

ขณะรับอาหาร ภิกษุสามเณรถูกอบรมมาอย่างเข้มงวดว่า ให้มีสติและมีจิตสำนึกในการบริโภคอาหารอยู่ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้ความอยากเข้ามาครอบครองจิตใจ จนกลายเป็นผูไม่รู้จักประมาณในการบริโภค เป็นผู้ละโมบตะกละตะกลาม เลือกเอาแต่อาหารที่ตนปรารถนาและเอาเป็นจำนวนมาก ๆ โดยไม่คำนึงถึงเพศภาวะของตน และไม่คำนึงถึงผู้อยู่เบื้องหลังอีกมากมาย ซึ่งอาหารทั้งหมดภายในวันนั้น ต้องแบ่งปันให้แก่ทุกชีวิตภายในวัด ซึ่งรวมทั้งแม่ชีอีกจำนวนกว่า ๔๐ คน และสัตว์ป่าต่าง ๆ ด้วย

ภิกษุสามเณรจึงต้องกะประมาณจำนวนอาหารให้พอดี และต้องฉันให้หมด หากมีอาหารหลงเหลืออยู่ในบาตร บางวันอาจถูกลงโทษให้ทำกิจบางอย่าง เช่น ล้างห้องน้ำ ห้องส้วม และถูกประกาศชื่อในท่ามกลางสงฆ์ ซึ่งผู้ถูกลงโทษในลักษณะเช่นนี้ จะเกิดความละอาย เข็ดขยาด การไม่รู้จักประมาณในอาหารไปอีกนาน

การแบ่งอาหารสำหรับบริโภคในแต่ละวัน วัดหนองป่าพงมีวิธีแบ่งอยู่ ๒ วิธี

วิธีแรก ให้ภิกษุสามเณรรับอาหารที่จัดไว้บนโต๊ะด้วยตนเอง วิธีนี้ฝึกหัดให้ภิกษุสามเณรควบคุมตัวเอง ให้เป็นผู้รู้ประมาณในอาหารการกิน มีจิตคิดเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น และทำให้อาหารเหลือเพียงพอแก่แม่ชีด้วย

ส่วนวิธีที่สอง คือ การแจกอาหารเป็นวิธีดั้งเดิมซึ่งได้ปฏิบัติกันมาตั้งแต่ยุคแรก ๆ ของวัดหนองป่าพง คือ มีภิกษุผู้รับหน้าที่ “ภัตตุเทศก์” (ภิกษุผู้มีหน้าที่แจกอาหาร) เป็นผู้แจกอาหารแก่ภิกษุสามเณร

ในปัจจุบันการแจกถูกนำมาใช้ในโอกาสต่าง ๆ เช่น เมื่อครูอาจารย์สังเกตเห็นว่า ภิกษุสามเณรมีความโลเลในการเลือกอาหาร หรือไม่รู้จักประมาณ ก็จะเปลี่ยนจากการรับอาหารเองมาเป็นวิธีแจก

การแจกอาหาร ภัตตุเทศก์จะเดินแจกอาหารไปตามลำดับ จากครูอาจารย์ไปจนกระทั่งถึงสามเณรและปะขาว

ภิกษุสามเณรจะเปิดฝาบาตรแล้ววางบาตรไว้เบื้องหน้าตนนั่งรอรับอาหารทุกอย่างโดยไม่มีสิทธิ์เลือก

อาหารทั้งคาว หวาน เปรี้ยว เผ็ด มัน เค็ม ผัก ผลไม้ จะถูกใส่ลงไปคลุกเคล้ากันในบาตร โดยมีจุดประสงค์อยู่ที่ให้รู้จักพิจารณาอาหาร ให้เห็นเป็นปฏิกูลโสโครก ไม่ใช่สิ่งที่ควรลุ่มหลงมัวเมา

ขณะนั่งรอรับการแจกอาหาร เมื่อภัตตุเทศก์ตักอาหารใส่ลงไปในบาตรให้ ภิกษุสามเณรจะพนมมือไหว้ทุก ๆ ครั้ง เพื่อเป็นการขอบคุณในความเอื้อเฟื้อของภัตตุเทศก์ที่กรุณาเสียสละแรงกายแรงใจแจกอาหารให้ เพราะนอกจากต้องยกภาชนะอาหารอันใหญ่และหนักด้วยแล้ว ภัตตเทศก์ยังต้องสำรวม ระวังจิตใจไม่ให้ตกอยู่ในอำนาจของ “อคต ๔” ด้วย คือไม่ลำเอียงหรือเห็นแก่ผู้ใดผู้หนึ่งด้วยอำนาจความพึงพอใจ ความเกลียดชัง ความลุ่มหลงและความเกรงกลัวภัย จนเป็นเหตุให้การแจกอาหารมีความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น