วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๔๑.ไปธุดงค์


          ป่ากับพุทธศาสนา มีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นเป็นอันหนึ่งอันเดียกัน พระพุทธเจ้าทรงประสูตร ตรัสรู้ และปรินิพพานท่ามกลางป่าเขา

แม้พระองค์มีอิสระเหนืออำนาจกิเลสตัณหาแล้ว ก็ยังดำรงพระชนม์ชีพอย่างสงบเงียบและเรียบง่ายในป่า จนกระทั่งปรินิพพาน

ป่าเป็นสถานอันเหมาะยิ่งสำหรับบำเพ็ญภาวนา เพื่อแสวงหาอิสรธรรม ดังในวิสุทธิมรรคกล่าวว่า

“พยัคฆ์ร้ายซุ่มซ่อนตัวในป่าคอยดักจับหมู่เนื้อเป็นอาหารฉันใด
พุทธบุตรผู้บำเพ็ญภาวนา มีปัญญารู้แจ้ง
ย่อมไปสู่ป่าแสวงหาอรหัตตผลฉันนั้น”

ครั้นสิ้นฤดูเข้าพรรษา ภิกษุผู้ผ่านฝึกหัดปฏิบัติในป่าพงมาอย่างน้อย ๕ ปี มีคุณสมบัติสมณะ อันกอปรด้วยศรัทธา ละอายและเกรงกลัวต่อบาปกรรม

มีความเพียร มีสติ ถึงพร้อมด้วยศีล มีความเอาใจใส่ประพฤติวัตรให้สมบูรณ์

มีความเห็นถูกต้อง ได้ยินได้ฟังมาก มีปัญญา

รู้จักว่าประพฤติเช่นใดเป็นอาบัติมิใช่อาบัติ รู้อาบัติเบาและหนักอย่างแจ่มแจ้ง จำปาฏิโมกข์ (วินัยพระ) อย่างแม่นยำ

มีความมักน้อย สันโดษในจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ ยารักษาโรค และมากด้วยความคิดในการออกจากกาม เป็น “ผู้พ้นนิสัย” คือ สามารถปกครองรักษาตนเองได้เมื่อต้องอยู่ตามลำพังโดยปราศจากครูอาจารย์

ภิกษุผู้มีคุณสมบัติดังกล่าวต่างกราบลาครูอาจารย์ จาริกรอนแรมสู่ป่าเขาเพื่อแสวงหาประสบการณ์ทางธรรมปฏิบัติ ฝึกฝนความอดทน พึ่งตนเอง แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า พัฒนาจิตใจให้หยั่งเข้าคุณธรรมอันยิ่งขึ้นไป

พระพุทธองค์ให้ความสำคัญต่อการไปสู่ป่าเพื่อบำเพ็ญภาวนามาก ดังคำตรัสที่ว่า

“ภิกษุทั้งหลายโน่นโคนไม้ โน่นเรือนว่าง พวกเธอจงเพียรเผากิเลส อย่าได้ประมาท จะได้ไม่เป็นผู้ที่ต้องร้อนใจในภายหลัง นี้เป็นคำสอนของเรา”