วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๓๙.กฐิน


             หลังวันออกพรรษาตั้งแต่แรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ถึงวันเพ็ญเดือน ๑๒ เป็นกาลตัดเย็บทำจีวรของภิกษุ เพื่อผลัดเปลี่ยนจีวรเก่าที่คร่ำคร่า และเป็นวาระของญาติโยมจะได้บำเพ็ญทานถวายผ้าและบริขารอื่น ๆ แก่พระสงฆ์ นิยมเรียกกาลทานนี้ว่า “กฐิน

เมื่อได้ผ้ากฐินมา คณะสงฆ์ลงมติกันแล้วถวายผ้านั้นแก่ภิกษุรูปหนึ่ง โดยมากจะมอบให้แก่พระเถระผู้มีอุปการะแก่สงฆ์ เช่น ประธานสงฆ์หรือพระเถระผู้มีลำดับพรรษารองลงมา มีพุทธานุญาตให้นำผ้ากฐิน ไปทำเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งในไตรจีวรโดยตัดเย็บย้อมให้เสร็จในวันนั้น

ภิกษุต่างช่วยกันทำผ้ากฐินตามความสามารถของแต่ละรูป เช่น วัดกะผ้า ตัดเย็บ เคี่ยวแก่นขนุนเพื่อทำสีสำหรับย้อม เมื่อตัดเสร็จก็นำไปชุบย้อมให้ได้สีที่เหมาะต่อการนุ่งห่ม

เมื่อทำจีวรเสร็จเรียบร้อย จะมีการประชุมสงฆ์ที่โรงอุโบสถ เพื่อถวายผ้ากฐินและอนุโมทนนาแก่ภิกษุผู้ได้รับความเห็นชอบจากคณะสงฆ์ ให้เป็นผู้ใช้สอยผ้าผืนนั้น

งานกฐินของวัดหนองป่าพงและสำนักสาขา จะเน้นสารประโยชน์ให้แก่ผู้มาร่วมงาน โดยมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การศึกษาและปฏิบัติธรรม เริ่มต้นด้วยการรวบรวมตัวของภิกษุสามเณรอุบาสกอุบาสิกาจากทุก ๆ สาขา ที่สามารถไปมาหาสู่กันโดยสะดวก ซึ่งเดินทางมาร่วมอนุโมทนา และแสดงสามัคคีต่อกัน

วาระของงานดำเนินไปด้วยบรรยากาศของธรรมะ ปราศจากสิ่งนอกเหนือพระธรรมวินัยและอบายมุขโดยสิ้นเชิง

ตลอดราตรีจะมีครูบาอาจารย์ผลัดเปลี่ยนกันแสดงธรรมกถา เพื่อมอบแสงสว่างทางปัญญาแก่ศาสนิกชน ให้นำธรรมะไปแก้ไขปัญหาชีวิตได้อย่างถูกต้องตามหลักของพระพุทธศาสนา

ในงานกฐิน ภิกษุสามเณรจากทุก ๆ สาขา จะมีโอกาสได้ทำความรู้จักมักคุ้นต่อกัน สร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นในหมู่ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมได้เป็นอย่างดี นำมาซึ่งความสามัคคีความพร้อมเพรียง เป็นรากฐานในการสืบทอดข้อวัตรปฏิบัติของศาสนาให้รุ่งเรืองต่อไป