วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๙.เป็นเณร


         เมื่อฤดูเข้าพรรษาใกล้มาถึง หรือบวชเป็นปะขาวมานานพอสมควร มีคุณสมบัติเพียงพอต่อการเป็นนักบวชที่ดีได้แล้ว ปะขาวจะได้รับข่าวดีจากครูอาจารย์ให้เตรียมตัวบวชเณร ปะขาวจะต้องหัดท่องจำคำขอบรรพชาให้ได้อย่างคล่องแคล่ว และเตรียมตัดเย็บจีวรด้วยตนเอง


    สามเณร คือ ผู้ที่จะก้าวเข้าสู่การเป็นสมณะในวันข้างหน้า เป็นผู้สืบทอดคุณธรรมแห่งสมณะต่อไป ดังนั้น เมื่อปะขาวได้รับการบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว จึงต้องศึกษาพระธรรมวินัย และจรรยามารยาทต่าง ๆ ของภิกษุอย่างละเอียดถี่ถ้วน พร้อมกับรักษาศีลเพิ่มขึ้นเป็น ๑๐ ข้อ รวมทั้งเสยขิยวัตรต่าง ๆ อีกด้วย


    วัดหนองป่าพงใช้การบวชเณร เป็นขั้นตอนหนึ่งในการคัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็นพระกรรมฐาน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีอายุเท่าไร ต้องผ่านการเป็นสามเณรก่อนทั้งนั้น จึงปรากฎมีเณรผู้เฒ่า และเณรผู้มีอายุเกิน ๒๐ ปีขึ้นไปมากมายในวัดหนองป่าพง ผู้ไม่คุ้นเคยกับวิถีชีวิตในวัดป่าจะแยกไม่ออกเลยว่า นักบวชเหล่านั้นเป็นภิกษุหรือสามเณร


   การบวชเป็นสามเณร เป็นขั้นตอนทดสอบสำคัญ ใช้สำหรับลดทิฏฐิ มานะ ของผู้มาบวชให้เบาบางลง คือ ในความรู้สึกของคนโดยมาก เมื่อกล่าวถึงสามเณรแล้ว ต้องนึกภาพเป็นเณรน้อยตัวเล็ก ๆ น่ารักน่าเอ็นดู แต่บุคคลผู้อยู่ในวัยฉกรรจ์หรือในวัยชรากลับถูกเรียกว่า “เณรนั่น...เณรนี่” จะมีความรู้สึกอย่างไร


    เมื่อวันคืนแห่งการเป็นสามเณรผ่านพ้นไปอย่างเนิ่นนาน ความยินดีปรีดิ์เปรมอันเกิดจากการเปลี่ยนสถานะจากผ้าขาวมาเป็นสามเณรก็ค่อย ๆ จางคลายไป ความนึกคิดแบบใหม่ในความอยากมีอยากเป็นได้แทรกซ้อนเข้ามาแทนที่ สามเณรบางรูปเกิดความรู้สึกว่า เมื่อใดเราจะได้เป็นพระกรรมฐานเสียที มองดูพระแล้วท่านช่างมีเกียรติ มีสิทธิ์ มีฐานะสูงส่งเสียจริง แต่เรากลับเป็นเพียงสามเณร ทั้งที่เราก็สมควรเป็นพระได้แล้ว บางรูปก็ขอให้ครูอาจารย์บวชให้เร็ว ๆ และถึงกับคิดไปบวชที่อื่นหรือลบหนีไปเลยก็มี