วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๓๒.ศิลปหัตถกรรมของพระป่า


           พระพุทธองค์และพระสาวกในครั้งพุทธกาล มีการดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย ดังปรากฏในพระไตรปิฎกว่า ครั้งหนึ่งพระองค์กับหมู่ภิกษุฉันข้าวแห้งแช่น้ำตลอดพรรษา และทรงใช้บริขารปอน ๆ เรียบ ๆ ไร้ราคาเป็นของหาได้ง่าย หรือของที่ชาวบ้านเขาทิ้งแล้ว ไม่ใช่สิ่งที่ทันสมัยเกินความจำเป็นของสมณะ เพราะจะเป็นเครื่องล่อใจให้ผู้อื่นอยากได้ จนต้องเกิดความกังวลกลัวสูญหาย ทำให้ขาดการบำเพ็ญสมณธรรม

หลวงพ่อชากล่าวไว้ว่า “เราต้องอยู่อย่างง่าย ๆ แบบตาตีตาสาธรรมดา ไม่ให้มีอะไรยุ่งยาก ต้องกินง่าย อยู่ง่าย และเลี้ยงง่าย”

พระส่วนมากที่วัดหนองป่าพงทำบริขารต่าง ๆ ใช้เอง โดยอาศัยฝีมือ ความตั้งใจ ความขยันหมั่นเพียร และความอดทนในการทำ ศิลปหัตถกรรมเหล่านี้ถูกถ่ายทอดลงมาตามลำดับ เพื่อให้ภิกษุฝึกหัดพึ่งตนเอง รู้จักใช้และรักษา รวมทั้งทำใช้เองได้

เมื่อถึงคราวทำบริขาร ภิกษุจะช่วยกันทำด้วยความสามัคคี ผู้มีความชำนาญก็จะฝึกหัดให้แก่ผู้ใหม่ ซึ่งเป็นการเกื้อกูลสร้างความสัมพันธ์อันดีในหมู่คณะมาก

กลด และขาบาตร เป็นบริขารอย่างหนึ่งของพระป่า ทำจากไม้ต่าง ๆ เช่น ไม้ไผ่ ไม้ลาน ไม้ตาว หวาย เป็นต้น

กลดหรือร่มขนาดใหญ่ ใช้กางกันแดด ฝน ลม และสัตว์เลื้อยคลานต่าง ๆ เปรียบเป็นกุฏิสำเร็จรูป นำติดตัวไปใช้ได้ทุกสถานการณ์ เป็นบริขารสำคัญอย่างหนึ่งที่อำนวยความสะดวกแก่พระกรรมฐาน ยามจาริกสู่ขุนเขาลำเนาไพร

ขาบาตร ใช้สำหรับวางตั้งบาตร ป้องกันการกระทบกับของแข็ง ที่อาจทำให้บาตรบุบหรือแตกได้

พระกรรมฐานมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ปรากฏที่จรรยามรรยาทหรือเรียกว่า “สมณสารูป” และเด่นชัดที่บริขาร ซึ่งเป็นของปอน ๆ เรียบง่าย จำนวนน้อย เพื่อฝึกหัดให้มักน้อยสันโดษ ยินดีในสิ่งที่มีอยู่ อันเป็นทางช่วยให้เกิดความสงบระงับแห่งจิต