วันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การปฎิบัติภาวนาจิต(หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) ตอนที่ ๑




ณ โอกาสต่อไปนี้ขอเชิญท่านพุทธบริษัททั้งหลายนอบน้อมต่อพระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดา ตรัสรู้เองโดยชอบ


ทำสติกำหนดรู้จิตของตนเอง เอาตัวรู้กำหนดรู้ที่จิต นึกว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่จิต พระธรรมก็อยู่ที่จิต พระอริยสงฆ์ก็อยู่ที่จิตของเรา
เราไม่ต้องไปกังวลกับสิ่งอื่น โดยที่สุดแม้กระแสเสียงการบรรยายธรรมหรือแสดงธรรมเราก็ไม่ต้องไปสนใจใด ๆ ทั้งสิ้น


เพียงแต่ให้มีสติกำหนดรู้จิตเพียงอย่างเดียว


เมื่อเรามีสติกำหนดรู้จิตของเรา ผู้รู้คือพระพุทธเจ้าก็กำเนิดที่จิต การทรงตัวอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะ ก็ทรงไว้ซึ่งคุณธรรม สติที่สังวรระวังตั้งใจจะสำรวมจิต ก็ได้ชื่อว่ามีกิริยาแห่งความเป็นพระสงฆ์อยู่ในจิต
ดังนั้นเมื่อเรามีสติกำหนดรู้จิตของเราเพียงอย่างเดียว หมดปัญหาที่เราจะไปกังวลกับสิ่งอื่น ๆ เพราะธรรมชาติของจิต และกายถ้ายังมีความสัมพันธ์กันอยู่ ไม่ว่าอะไรจะผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ จิตเขาเป็นผู้มีหน้าทีรับรู้ เขาจะรู้เองโดยอัตโนมัติ ตาหูจมูกลิ้นกาย เป็นแต่เพียงเครื่องมือ เครื่องมือของจิตที่จะสื่อสารกับโลกภายนอก
ดังนั้นเมื่อเราจะปฏิบัติธรรม จึงสำคัญอยู่ที่การที่มีสติกำหนดรู้จิตของเราเพียงอย่างเดียว
ปฏิปทาของครูบาอาจารย์ที่ท่านเคยอบรมสั่งสอนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านพ่อลี ซึ่งเป็นบูรพาจารย์ที่เราเคารพบูชาเป็นอย่างยิ่ง ท่านก็ย้ำสอนอยู่ที่อานาปานสติ


อานาปานสติ คือการที่กำหนดรู้ มีกำหนดสติ กำหนดรู้ลมหายใจเข้า หายใจออก
ทีนี่วิธีการกำหนดรู้ลมหายใจ เราก็เพียงแค่ว่ามีสติกำหนดรู้จิตอยู่เท่านั้น
เมื่อกายกับจิตยังมีความสัมพันธ์กันอยู่ สิ่งที่จะปรากฏเด่นชัดที่สุดก็คือ “ลมหายใจ”


เมื่อเรามีสติกำหนดรู้ลมหายใจ เราก็จะรู้ธรรมชาติของกาย
ธรรมชาติของกายนี้ปัจจัยสำคัญที่สุดก็คือลมหายใจเท่านั้น
เมื่อหายใจเข้าไปแล้วไม่ออกมาเราก็ตาย ลมหายใจออกไปแล้วไม่ย้อนกลับเข้ามาเราก็ตาย นี่เรามองเห็นความจริงได้เด่นชัด
ในเมื่อรู้ว่าเราจะตาย เราก็รู้มรณานุสสติ คือสติระลึกถึงความตาย
ดั่งเช่นที่พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถามพระอานนท์ว่า


อานนท์เธอระลึกถึงความตายวันละกี่ครั้งกี่หน
ท่านอานนท์ก็ทูลตอบว่า “วันละพันหน”
พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสตอบว่า “อานนท์ยังประมาทอยู่”
เราตถาคตระลึกถึงความตาย “ทุกลมหายใจ”


ที่นี้เมื่อเรามาพิเคราะห์หรือพิจารณาความเป็นจริงตามพระดำรัสนี้ โดยธรรมชาติของผู้เป็นพุทธะหรือองค์พระพุทธเจ้า ย่อมมีพระสติสัมปชัญญะรู้พร้อมทั่วอยู่ทุกขณะจิต


ดังนั้นคำที่ว่าระลึกถึงลมหายใจอยู่ทุกขณะจิต ก็หมายความว่าพระองค์รู้ระลึกถึงลมหายใจเข้าหายใจออกอยู่เป็นปกตินั่นเอง


ที่นี่วันหนึ่ง ๆ คนเราหายใจวันละกี่ครั้งกี่คน เมื่อเรามีสติกำหนดรู้ลมหายใจของเราเข้าออกอยู่ตลอดเวลา ก็ได้ชื่อว่าเราได้ระลึกถึงความตายอยู่ตลอดเวลา


ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า เราระลึกถึงลมหายใจอยู่ทุกขณะจิต ทุกขณะที่มีลมหายใจความหมายของพระองค์เป็นอย่างนี้


สมัยที่ท่านพ่อลียังมีชีวิตอยู่ ท่านก็ชื่อว่าอาตมานอกจากจะเป็นลูกศิษย์แล้วยังถือว่าเป็นหลานด้วย ท่านมีศักดิ์เป็นปู่ เวลาท่านโปรดไปเยี่ยมเมื่อไหร่ ท่านจะบอกว่ามหาพุทธกำหนดรู้จิตรู้ลมหายใจเดี๋ยวนี้ ท่านไม่เคยสอนอย่างอื่น ท่านบอกให้กำหนดรู้ลมหายใจ


พอมีสติกำหนดรู้ลมหายใจสักพักหนึ่ง ท่านจะถามว่า “สบายมั๊ย”
เวลาอยู่ต่อหน้าครูบาอาจารย์ทำอะไรมันก็สบายหมด เพราะมันกลัว กลัวบารมีของครูบาอาจารย์ ก็เลยต้องตอบท่านว่าสบายมาก


แล้วท่านก็ย้ำว่า การปฏิบัติสมาธิภาวนาสำคัญอยู่ที่อานาปานสติ
ทำไมถึงสำคัญอยู่ที่อานาปานสติ เรียนถามท่าน


ท่านก็บอกว่า ใครจะบริกรรมภาวนาอะไรก็ตาม หรือจะพิจารณาอะไรก็ตาม เมื่อจิตสงบแล้ว ซึ่งยังไม่ใช่สมาธิเป็นแต่เพียงความสงบ จิตหยุดนิ่ง ไม่นึกถึงอะไรอยู่แล้ว ในเมื่อจิตอยู่ว่าง ๆ ลมหายใจจะปรากฏเด่นชัดที่สุด ซึ่งจิตจะวิ่งไปหาลมหายใจเอง นี่ท่านว่าอย่างนี้


สรุปความว่าใครจะภาวนาอะไรอย่างไหนก็ตาม เมื่อจิตปล่อยวางอารมณ์ที่กำหนดพิจารณาอยู่ก็ดี บริกรรมภาวนาอยู่ก็ดี จิตจะวิ่งเข้าหาลมหายใจ อันเป็นธรรมชาติของร่างกาย


เมื่อจิตมาจับลมหายใจ ในช่วงนั้นจิตจะกำหนดรู้ลมหายใจเองโดยอัตโนมัติ เพียงแต่กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก จิตจะไม่นึกว่า ลมหายใจชัด ลมหายใจยาว ลมหายใจหยาบ ลมหายใจละเอียด เพียงแต่กำหนดรู้ลมหายใจเอง เฉย อยู่ เหมือน ๆ กับเราไม่ได้ตั้งใจ


ที่นี่เมื่อจิตมากำหนดรู้อยู่ที่ลมหายใจ บางครั้งลมหายใจจะปรากฏว่าลมหายใจแรงขึ้นเหมือนกับคนเหนื่อยหอบ


ท่านก็เตือนให้มีสติกำหนดรู้อยู่เฉย ๆ บางครั้งจะรู้สึกว่าลมหายใจแผ่วเบาลงไปเหมือนใจจะขาด เหมือนจะหยุดหายใจ ท่านก็เตือนให้กำหนดรู้อยู่เฉย ๆ อย่าไปตกใจอย่าไปตื่นใจกับความเป็นเช่นนั้นสติเค้าจะกำหนดรู้ของเค้าอยู่โดยเองธรรมชาติ


ถ้าหากผู้สติยังไม่เข้มแข็ง มีเหตุการณ์อันนี้บังเกิดขึ้นจะเกิดเอะใจ ตกใจ แล้วสมาธิก็ถอน ก็ตั้งต้นบริกรรมภาวนาหรือพิจารณาไปใหม่ จนกว่าจิตจะไปถึงความเป็นเช่นนั้นจนถึงจุดนิ่งว่าง
ที่นี้จุดที่จิตไปหยุดนิ่งว่างอยู่เฉย ๆ อันนี้อย่าเข้าใจว่าจิตมีสมาธิ “มันเป็นแต่เพียงความสงบเท่านั้น”


เมื่อจิตจะเป็นสมาธิมันเปลี่ยนสภาพจากความสงบ พอมันไปเกาะลมหายใจปั๊บจะรู้สึกว่าสว่างนิด ๆ ตามกำลังของจิต ที่นี่ถ้าจิตมีกำลังสมาธิมีกำลังของจิตเข้มแข็ง จิตสงบละเอียดลงไปแล้ว ความสว่างไสวจะปรากฏขึ้น


ในช่วงที่จิตสว่างไหวปรากฏขึ้นนั้น ร่างกายยังปรากฏอยู่จิตจับลมหายใจเป็นอารมณ์ คือ วิตกถึงลมหายใจ อันนี้เป็นองค์แห่ง “วิตก”ที่นี่สติสัมปชัญญะอันเตรียมพร้อม รู้ตัวอยู่ในขณะนั้นเป็น “วิจารณ์”เมื่อจิตมีวิตกวิจารณ์ จิตแน่วแน่ต่ออารมณ์ที่จิตวิตกถึง ย่อมมีความดูดดื่ม ซึบซาบ แล้วก็เกิดมี “ปีติ”“ปีติเป็นอาการที่จิตดื่มรสพระสัทธรรม”


เมื่อปีติบังเกิดขึ้น กายเบาจิตเบา กายสงบจิตสงบ ผู้ใจอ่อนมีปีติอย่างแรงตัวจะสั่น ตัวจะโยก น้ำตาไหลขนหัวลุก ขนหัวพอง ท่านพ่อลีท่านเตือนให้กำหนดรู้ตัวอย่างเฉย ๆพยายามรักษาสภาพจิตให้เป็นปกติไม่ต้องหวั่นไหวต่ออาการที่เป็นไปเช่นนั้นเมื่อจิตมีปีติก็มีความสุข เมื่อมีความสุขก็มีความเป็นหนึ่งกำหนดรู้อยู่ที่ลมหายใจ ความเป็นหนึ่งก็คือ “เอกัคตาตา”


ถ้าหากสมาธิในขั้นนี้ดำรงอยู่ได้นาน ๆ หรือผู้ปฏิบัติเข้าสมาธิออกสมาธิได้อย่างคล่องตัวซึ่งเรียกว่า “วสี” ตามตำนานในการออกการเข้าสมาธิ แล้วสมาธิก็ดำรงอยู่นาน ๆ จะให้อยู่นานเท่าไหร่ก็ได้ อันนี้เรียกว่าผู้ปฏิบัติได้ “ปฐมฌาน


ปฐมฌาน มีองค์ประกอบห้า คือ วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคตาตา นักปฏิบัติที่เคยผ่านแล้วย่อมเข้าใจดี
คราวนี้เมื่อจิตสงบลงไป สงบลงไป จิตนิ่งอยู่เฉย ๆ ไม่นึกถึงอะไร แต่มีปีติมีความสุขสมาธิจิตก้าวขึ้นสู่ “ทุติยฌาน” มีองค์ประกอบคือปีติสุข เอกัคตา


เมื่อจิตสงบละเอียดลงไปอีกขั้นหนึ่ง อาการแห่งปีติ ขนหัวลุกขนหัวพองหายไปหมดสิ้น ยังเหลือแต่สุขกับเอกัคตา ตอนนี้รู้สึกว่ากายเริ่มจาง ๆ เกือบจะหายไป แต่ยังปรากฏว่า สุขก็เป็นสุขที่ละเอียดสุขุม อันนี้สมาธิอยู่ในขั้น “ตติยฌาน” มีองค์ประกอบสองคือ สุขกับเอกัคตา


เมื่อจิตสงบละเอียดลงไปละเอียดลงไปจนกระทั่งกายจางหายไป ตอนนี้กายหายหมดแล้ว ยังเหลือจิตดวงนิ่งสว่างไหวรู้ตื่นเบิกบาน ร่างกายตัวตนไม่มี จิตไม่ได้นึกอะไร จิตรู้อยู่ที่จิต สมาธิขั้นนี้ถ้าเรียกโดยจิตก็เรียกว่า อัปณาจิต ถ้าเรียกโดยสมาธิก็เรียกว่าอัปณาสมาธิ เรียกว่าโดยฌานก็เรียกว่า จตุถฌาน มีองค์ประกอบสองก็คือ เอกัคตาคือความเป็นหนึ่ง กับอุเบกขาความเป็นกลางของจิต เป็นสมาธิอยู่ในขั้นจตุถฌาน


สมาธิขั้นนี้ร่างกายตัวตนหายหมดยังเหลือแต่จิตดวงสว่างไหวอยู่ แต่ยังยึดความสว่างเป็นอารมณ์จิต จิตเป็นอตฺตาหิ อตฺตโนนาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน


อตฺตสรณา มีตนเป็นที่ระลึกคือระลึกอยู่ที่ตน


อตฺตาทีป มีตนเป็นเกราะ


ผู้ภาวนาได้ชื่อว่าสมาธิขั้น “สมถะกรรมฐาน”


คราวนี้สมาธิขั้นสมถะกรรมฐานที่ยังไม่มีกำลังเพียงพอก็ได้แต่เพียงหยุดนิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน เป็นฐานสร้างพลังจิต


แม้ว่าความรู้ความเห็นอะไรจะยังไม่บังเกิดขึ้นในอาการที่จิตทรงอยู่ในสภาพเช่นนั้นก็ตาม


แต่ก็จะได้พลังจิต คือพลังทางสมาธิทางสติ


เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิมาแล้ว พอรู้สึกว่ามีร่างกาย ถ้าจิตดวงนี้จะไม่เดินวิปัสสนาก็จะถอยพรวด ๆ ๆ ออกมา มาจนกระทั่งถึงความปกติธรรมดา เหมือนกับที่ยังไม่ได้ภาวนา


แต่ถ้าจิตบางดวงมีอุปนิสัยเบาบาง จะก้าวขึ้นถึงภูมิวิปัสสนา พอถอนออกพอรู้สึกว่ามีกายเท่านั้นจิตดวงนี้ก็จะเกิดความรู้ความคิดผุดขึ้นมา ผุดขึ้นมาอย่างกับน้ำพุ โดยอัตโนมัติ ในตอนนี้นักปฏิบัติบางท่าน อาจจะเข้าใจผิดว่าจิตฟุ้งซ่าน แต่ความจริงไม่ใช่จิตฟุ้งซ่าน จิตจะก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาเองโดยเราไม่ได้ตั้งใจ


ถ้าจิตถอนออกจากสมาธิออกมาแล้วเกิดความคิดฟุ้ง ๆ ๆ ขึ้นมา สติสัมปชัญญะก็รู้พร้อมอยู่ที่ตรงที่จิตเกิดความคิด คิดแล้วก็ปล่อยวาง คิดแล้วก็ปล่อยวาง ไม่ได้วิ่งตามเรื่องราวสิ่งที่จิตคิด กำหนดรู้เพียงจุดที่เกิดความคิดเท่านั้น อันนี้เรียกว่าสมาธิวิปัสสนา


จิตที่มันคิดไปนั้นมันคิดเรื่องอะไร สารพัดจิปาถะที่จิตมันจะปรุงแต่งขึ้นมา มันจะเหมือนกับเราผูกลิงไว้บนต้นไม้ มันจะกระโดดไปกิ่งโน้น กระโดดไปกิ่งนี้ บางทีมันก็แยกเขี้ยวยิงฟัน มันจะมีลักษณะอย่างนั้น มันไม่เป็นเรื่องไม่เป็นราว เพราะความคิดอันนี้จิตมันปรุงแต่งขึ้นมา


ที่นี่ถ้าจิตมันปรุงแต่งขึ้น ถ้าสติสัมปชัญญะมันรู้พร้อม มันก็สักแต่ว่าคิด คิดแล้วปล่อยวาง คิดแล้วปล่อยวาง ไม่ได้ยึดอะไรไว้เป็นปัญหา สร้างความเดือดร้อนให้กับตัวเอง


ที่นี่ถ้าจิตของท่านผู้ใดเป็นเช่นนี้ ถ้าหากไม่เผลอไปคิดว่าจิตฟุ้งซ่านปล่อยให้มันไปตามธรรมชาติของมัน มันอยากคิดอยากให้มันคิดไป แต่ว่าเรามีสติกำหนดตามรู้ ๆ ๆ เรื่อยไป


เอาความคิดนั้นแหละเป็นอารมณ์สิ่งรู้ของจิต เป็นสิ่งระลึกของสติ ตอนนี้สมาธิมันเป็นเองโดยตามธรรมชาติ ปัญญาก็เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เรากำหนดไหมเอาความดีจากความเป็นเช่นนี้ของจิต ด้วยความมีสติสัมปชัญญะรู้พร้อมอยู่ที่จิตเพียงอย่างเดียว


เมื่อจิตไปสุดช่วงมันแล้ว บางทีจะหยุดนิ่งปั๊บลงไป


บางทีก็รู้สึกแจ่ม ๆ อยู่ในจิต


บางทีก็รู้สึกสงบลงไปถึงขั้นจตุถฌาน


ไปยับยั้งอยู่ในจตุถฌานพอสมควร แล้วก็ไหวตัวออกมาจากสมาธิขั้นนี้
พอมาถึงจุดที่มีร่างกายเกิดวิตกวิจารณ์ขึ้นมา แล้วก็จะอธิบายเหตุการณ์ที่ผ่านมาให้ตัวเองฟังช๊อต ๆ


บางทีเขาอาจจะบอกว่า ความคิดเป็นอาหารของจิต ความคิดเป็นการบริหารจิตให้เกิดพลังงาน
ความคิดและการผ่อนคลายความตึงเครียด ความคิดนี่แหละมายั่วยุให้เราเกิดอารมณ์ความยินดียินร้าย แล้วจิตจะสามารถกำหนดไหมความคิดยินยินร้ายว่า ความยินดีคือกามตัณหา ความยินร้ายคือวิภาวตัณหา ความยึดคือภาวตัณหา


ในเมื่อจิตมีกามตัณหา วิภาวตัณหา ภาวตัณหา อยู่พร้อม ความยินดียินร้ายมันก็บังเกิดขึ้น สุขทุกข์ก็บังเกิดขึ้นสลับกันไป เมื่อผู้มีสติสัมปชัญญะ มีพลังทางสมาธิทางสติปัญญาจิตก็สามารถกำหนดหมายรู้เกิดขึ้นดังไปอยู่ภายในจิต ว่านี่คือทุกข์อริยสัจที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ 
แล้วจิตก็จะกำหนดดูรู้อยู่ที่จิต สิ่งเกิดดับ ๆ ๆ อยู่กับจิต แล้วในที่สุดจะรู้ว่านอกจากทุกข์ไม่มีอะไรอื่น ทุกข์ไม่มีอะไรดับ ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นดับไป ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม


.