วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553

หลวงปู่ฝากไว้ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล) ตอนที่ ๒


เมื่อถึงปรมัตถ์แล้วไม่ต้องการ 

ก่อนเข้าพรรษาปี ๒๔๙๖ หลวงพ่อเถาะซึ่งเป็นญาติของหลวงปู่ และบวชเมื่อวัยชราแล้ว ได้ออกธุดงค์ติดตามท่านอาจารย์เทสก์ ท่านอาจารย์สาม ไปอยู่จังหวัดพังงาหลายปี กลับมาเยี่ยมนมัสการหลวงปู่ เพื่อศึกษาข้อปฏิบัติทางกัมมัฏฐานต่อไปอีกจนเป็นที่พอใจแล้ว 

หลวงพ่อเถาะพูดตามประสาความคุ้นเคยว่า หลวงปู่สร้างโบสถ์ ศาลา ได้ใหญ่โตสวยงามอย่างนี้ คงจะได้บุญได้กุศลอย่างใหญ่โตทีเดียว 

หลวงปู่ตอบว่า 

“ที่เราสร้างนี่ก็เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ประโยชน์สำหรับโลก สำหรับวัดวาศาสนาเท่านั้นแหละ ถ้าพูดถึงเอาบุญเราจะมาเอาบุญอะไรอย่างนี้” 

............................................................................................. 

เป็นการดัดนิสัยหรือเปล่า 

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ผ่านพ้นไปแล้วเป็นเวลา ๖ ปี ผลได้ที่สงครามฝากไว้ให้ก็คือ ความยากจนข้นแค้นแสนเข็ญด้วยขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค ได้แผ่ปกคลุมไปแล้วทั่วทุกหย่อมหญ้า โดยเฉพาะเครื่องนุ่งห่มขาดแคลนอย่างยิ่ง พระเณรในวัดต่างๆ มีสบงจีวรชุดเดียวก็บุญหนักหนาแล้ว พวกเราเป็นสามเณรอยู่กับหลวงปู่หลายรูป 

วันหนึ่ง สามเณรพรม ซึ่งเป็นหลานของหลวงปู่รูปหนึ่งด้วย เขาเห็นสามเณรชุมพลห่มจีวรใหม่และสวย จึงถามว่า จีวรนี้ท่านได้แต่ไหนมา เณรชุมพลตอบว่า เราเข้าไปทำวาระถวายหลวงปู่ หลวงปู่เห็นของเราขาด ท่านจึงประทานให้มาผืนหนึ่ง 

เมื่อถึงวาระเณรพรม จึงห่มจีวรขาดไปนวดเท้าหลวงปู่ ด้วยคิดว่าจะได้อย่างเขาบ้าง พอเสร็จวาระกำลังจะออกมา หลวงปู่เห็นจีวรขาด คงจะสงสารหลานอย่างจับใจ จึงลุกไปเปิดตู้หยิบเอาของมายื่นให้ พร้อมกับสั่งว่า 

“นี่เอาไปเย็บให้ดี อย่าห่มทั้งที่ขาดอย่างนี้” 

สามเณรพรมต้องจำใจรับด้ายกับเข็มจากหลวงปู่อย่างรวดเร็วด้วยความผิดหวัง 

............................................................................................. 

ทุกข์เพราะอะไร 

สุภาพสตรีวัยเลยกลางคนผู้หนึ่ง เข้ามนัสการหลวงปู่ พรรณนาถึงฐานะของตนว่าอยู่ในฐานะที่ดี ไม่เคยขาดแคลนสิ่งใดเลย มาเสียใจกับลูกชายที่สอนไม่ได้ ไม่อยู่ในระเบียบแบบแผนที่ดี ตกอยู่ภายใต้อำนาจอบายมุขทุกอย่าง ทำลายทรัพย์สมบัติและจิตใจของพ่อแม่จนเหลือที่จะทนได้ ขอความกรุณาหลวงปู่ให้ช่วยแนะอุบายบรรเทาทุกข์ และแก้ไขให้ลูกชายพ้นจากอบายมุขนั้นด้วย 

หลวงปู่ก็แนะนำสั่งสอนไปตามเรื่องราวนั้นๆ ตลอดถึงแนะอุบายทำใจให้สงบ รู้จักปล่อยวางให้เป็น 

เมื่อสุภาพสตรีนั้นกลับไปแล้ว หลวงปู่ปรารภธรรมะให้ฟังว่า 

“คนสมัยนี้ เขาเป็นทุกข์เพราะความคิด” 

............................................................................................. 

อุทานธรรม 

หลวงปู่กล่าวธรรมกถาต่อมาอีกว่า สมบัติพัสถานทั้งหลาย มันมีประจำอยู่ในโลกนี้มาแล้วอย่างสมบูรณ์ ผู้ที่ขาดปัญญาและไร้ความสามารถ ก็ไม่อาจจะแสวงหาเพื่อยึดครองสมบัติเหล่านั้นได้ ย่อมครองตนอยู่ด้วยความฝืดเคืองและลำบากขันธ์ 

ส่วนผู้ที่มีปัญญามีความสามารถ ย่อมแสวงหาทรัพย์สมบัติของโลกไว้ได้อย่างมากมาย อำนวยความสะดวกสบายแก่ตนได้ทุกกรณี ส่วนพระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านพยายามดำเนินตนเพื่อออกจากสิ่งเหล่านั้นทั้งหมด ไปสู่ภาวะแห่งความไม่มีอะไรเลย เพราะว่า 

“ในทางโลก มี สิ่งที่ มี ส่วนในทางธรรม มี สิ่งที่ ไม่มี” 

............................................................................................. 

อุทานธรรมต่อมา 

เมื่อแยกพันธะแห่งความเกี่ยวเนื่องจิตกับสรรพสิ่งทั้งปวงได้แล้ว จิตก็หมดพันธะกับเรื่องโศก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส จะดีหรือเลว มันขึ้นอยู่กับจิตที่ออกไปปรุงแต่งทั้งนั้น แล้วจิตที่ขาดปัญญาย่อมเข้าใจผิด เมื่อเข้าใจผิด ก็หลงอยู่ภายใต้อำนาจของเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย ทั้งทางกายและทางใจ 

อันโทษทัณฑ์ทางกายอาจมีคนอื่นช่วยปลดปล่อยได้บ้าง ส่วนโทษทัณฑ์ทางใจมีกิเลสตัณหาเป็นเครื่องรึงรัดไว้นั้น ต้องรู้จักปลดปล่อยตนด้วยตนเอง 

“พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านพ้นแล้วจากโทษทั้งสองทาง ความทุกข์จึงครอบงำไม่ได้” 

.....................................................................................................



อุทานธรรมข้อต่อมา

เมื่อบุคคลปลงผม หนวด เครา ออกหมดแล้ว และได้ครองผ้ากาสาวพัสตร์เรียบร้อยแล้ว ก็นับว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นภิกษุได้ แต่ยังเป็นได้แต่เพียงภายนอกเท่านั้น ต่อเมื่อเขาสามารถปลงสิ่งที่รกรุงรังทางใจ อันได้แก่ อารมณ์ตกต่ำทางใจได้แล้ว ก็ชื่อว่าเป็นภิกษุภายในได้

ศีรษะที่ปลงผมหมดแล้ว สัตว์เลื้อยคลานเล็กน้อย เช่น เหา ย่อมอาศัยอยู่ไม่ได้ฉันใด จิตที่พ้นจากอารมณ์ขาดจากการปรุงแต่งแล้ว ทุกข์ก็อาศัยอยู่ไม่ได้ฉันนั้น ผู้มีปกติเป็นอยู่อย่างนี้ ควรเรียกเอาว่า “เป็นภิกษุแท้” 

.............................................................................................

พุทโธเป็นอย่างไร 

หลวงปู่ได้รับนิมนต์ไปโปรดญาติโยมที่กรุงเทพฯ เมื่อ ๓๑ มีนาคม ๒๕๒๑ ในช่วงสนทนาธรรม ญาติโยมสงสัยว่า พุทโธเป็นอย่างไร หลวงปู่ได้เมตตาตอบว่า

เวลาภาวนาอย่าส่งจิตออกนอก ความรู้อะไรทั้งหลายทั้งปวงอย่าไปยึด ความรู้ที่เราเรียนกับตำรับตำราหรือจากครูบาอาจารย์ อย่าเอามายุ่งเลย ให้ตัดอารมณ์ออกให้หมด แล้วก็ภาวนาไปให้มันรู้ รู้จากจิตของเรานั่นแหละ จิตของเราสงบเราจะรู้เอง ต้องภาวนาให้มากๆ เข้า เวลามันจะเป็น จะเป็นของมันเอง ความรู้อะไรๆ ให้มันออกจากจิตของเรา

ความรู้ที่ออกจากจิตที่สงบนั่นแหละเป็นความรู้ที่ลึกซึ้งถึงที่สุด ให้มันรู้ออกจากจิตเองนั่นแหละมันดี คือจิตมันสงบ ทำจิตให้เกิดอารมณ์อันเดียว อย่าส่งจิตออกนอก ให้จิตอยู่ในจิต แล้วให้จิตภาวนาเอาเอง ให้จิตเป็นผู้บริกรรมพุทโธ พุทโธอยู่นั่นแหละ แล้วพุทโธนั่นแหละจะผุดขึ้นในจิตของเรา เราจะได้รู้จักว่า

พุทโธ นั้นเป็นอย่างไร แล้วรู้เอง..... เท่านั้นแหละไม่มีอะไรมากมาย

(ถอดจากเทป)

.............................................................................................

อยากได้ของดี 

เมื่อต้นเดือนกันยายน ๒๕๒๖ คณะแม่บ้านมหาดไทย โดยมีคุณหญิงจวบ จิรโรจน์ เป็นหัวหน้าคณะ ได้นำคณะแม่บ้านมหาดไทยไปบำเพ็ญสังคมสงเคราะห์ทางภาคอีสาน ได้ถือโอกาสแวะนมัสการหลวงปู่ เมื่อเวลา ๑๘.๒๐ น.

หลังจากกราบนมัสการและถามถึงอาการสุขสบายของหลวงปู่และรับวัตถุมงคลเป็นที่ระลึกจากหลวงปู่แล้ว เห็นว่าหลวงปู่ไม่ค่อยสบาย ก็รีบออกมา แต่ก็ยังมีสุภาพสตรีท่านหนึ่งถือโอกาสพิเศษกราบหลวงปู่ว่า ดิฉันขอของดีจากหลวงปู่ด้วยเถอะเจ้าค่ะ

หลวงปู่จึงเจริญพรว่า ของดีก็ต้องภาวนาเอาจึงจะได้ เมื่อภาวนาแล้ว ใจก็สงบ กาย วาจา ก็สงบ แล้วกายก็ดี วาจา ใจ ก็ดี เราก็อยู่ดีมีสุขเท่านั้นเอง

ดิฉันมีภาระมาก ไม่มีเวลาจะนั่งภาวนาได้ งานราชการเดี๋ยวนี้รัดตัวมากเหลือเกิน มีเวลาที่ไหนมาภาวนาได้คะ

หลวงปู่จึงต้องอธิบายให้ฟังว่า

“การภาวนาต้องกำหนดดูที่ลมหายใจ ถ้ามีเวลาสำหรับหายใจ ก็ต้องมีเวลาสำหรับภาวนา” 

.............................................................................................

มี แต่ไม่เอา 

ปี ๒๕๒๒ หลวงปู่ไปพักผ่อนและเยี่ยมพระอาจารย์สมชายที่วัดเขาสุกิม จังหวัดจันทบุรี ขณะเดียวกันก็มีพระเถระอาวุโสรูปหนึ่งจากกรุงเทพฯ คือ พระธรรมวราลังการ วัดบุปผาราม เจ้าคณะภาคทางใต้ไปอยู่ฝึกกัมมัฏฐานเมื่อวัยชราแล้ว เพราะมีอายุอ่อนกว่าหลวงปู่เพียงปีเดียว

เมื่อท่านทราบว่าหลวงปู่เป็นพระฝ่ายกัมมัฏฐานอยู่แล้ว ท่านจึงสนใจและศึกษาถามถึงผลของการปฏิบัติ ทำนองสนทนาธรรมกันเป็นเวลานาน และกล่าวถึงภาระของท่านว่า มัวแต่ศึกษาและบริหารงานการคณะสงฆ์มาตลอดวัยชรา แล้วก็สนทนาข้อกัมมัฏฐานกับหลวงปู่เป็นเวลานาน

ลงท้ายถามหลวงปู่สั้นๆ ว่า ท่านยังมีโกรธอยู่ไหม

หลวงปู่ตอบเร็วว่า

“มี แต่ไม่เอา”

.............................................................................................

รู้ให้พร้อม

ระหว่างที่หลวงปู่อยู่รักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์นั้น มีผู้ไปกราบนมัสการและฟังธรรมเป็นจำนวนมาก คุณบำรุงศักดิ์ กองสุข เป็นผู้หนึ่งที่สนใจในการปฏิบัติสมาธิภาวนา นัยว่าเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ แห่งวัดสังฆทาน จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นวัดปฏิบัติที่เคร่งครัดฝ่ายธุดงค์กัมมัฏฐานในยุคปัจจุบัน ได้ปรารภการปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ถึงเรื่องการละกิเลสว่า

“หลวงปู่ครับ ทำอย่างไรจึงจะตัดความโกรธให้ขาดได้” 

หลวงปู่ตอบว่า

“ไม่มีใครตัดให้ขาดได้หรอก มีแต่รู้ทัน เมื่อรู้ทันมันก็ดับไปเอง” 

.............................................................................................


ไม่ตามใจผู้ถาม 

ผู้ที่อยู่เฝ้ารักษาพยาบาลหลวงปู่ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ในรอบดึกมีจำนวนหลายท่านด้วยกัน 

เขาเหล่านั้นมีความสงสัยและอัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง โดยที่สังเกตเห็นว่า บางวันพอเวลาดึกสงัดตีหนึ่งผ่านไปแล้ว ได้ยินหลวงปู่อธิบายธรรมะนานประมาณสิบกว่านาที แล้วสวดยถาให้พร ทำเหมือนหนึ่งมีผู้มารับฟังอยู่เฉพาะหน้าเป็นจำนวนมาก ครั้นจะถามประพฤติการที่หลวงปู่ทำเช่นนั้นก็ไม่กล้าถาม ต่อเมื่อเห็นหลวงปู่ทำเช่นนั้นหลายครั้งก็ทนสงสัยไม่ได้ จึงพากันถามหลวงปู่ตามลักษณาการนั้น 

หลวงปู่จึงบอกว่า 

“ความสงสัยและคำถามเหล่านี้ มันไม่ใช่เป็นแนวทางปฏิบัติธรรม” 

............................................................................................. 

ประหยัดคำพูด 

คณะปฏิบัติธรรมจากจังหวัดบุรีรัมย์หลายท่าน มีร้อยตำรวจเอกบุลชัย สุคนธมัต อัยการจังหวัดเป็นหัวหน้า มากราบหลวงปู่เพื่อฟังข้อปฏิบัติธรรมและเรียนถามถึงวิธีปฏิบัติยิ่งๆ ขึ้นไป ซึ่งส่วนมากก็เคยปฏิบัติกับครูบาอาจารย์แต่ละองค์มาแล้ว และแสดงแนวทางปฏิบัติไม่ค่อยจะตรงกัน เป็นเหตุให้เกิดความสงสัยยิ่งขึ้น 

จึงขอกราบเรียนหลวงปู่โปรดช่วยแนะแนวปฏิบัติที่ถูกต้อง และทำได้ง่ายที่สุด เพราะหาเวลาปฏิบัติธรรมได้ยาก หากได้วิธีที่ง่ายๆ แล้วก็จะเป็นการถูกต้องอย่างยิ่ง 

หลวงปู่บอกว่า 

“ให้ดูจิต ที่จิต” 

............................................................................................. 

ง่าย แต่ทำได้ยาก 

คณะของคุณดวงพร ธารีฉัตร จากสถานีวิทยุทหารอากาศ ๐๑ บางซื่อ นำโดย คุณอาคม ทันนิเทศ เดินทางไปถวายผ้าป่าและกราบนมัสการครูบาอาจารย์ตามสำนักต่างๆ ทางภาคอีสาน ได้แวะกราบนมัสการหลวงปู่ หลังจากถวายผ้าป่า ถวายจตุปัจจัยไทยทานแด่หลวงปู่ และรับวัตถุมงคลเป็นที่ระลึกจากท่านแล้ว ต่างคนต่างก็ออกไปตลาดบ้าง พักผ่อนตามอัธยาศัยบ้าง 

มีอยู่กลุ่มหนึ่งประมาณสี่ห้าคนเข้าไปกราบขอให้หลวงปู่แนะนำวิธีปฏิบัติง่ายๆ เพื่อแก้ไขความทุกข์ ความกลุ้มใจ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเป็นประจำ ว่าควรปฏิบัติอย่างไรจึงได้ผลเร็วที่สุด 

หลวงปู่บอกว่า 

“อย่าส่งจิตออกนอก” 

............................................................................................. 

ทิ้งเสีย 

สุภาพสตรีท่านหนึ่ง เป็นชนชั้นครูบาอาจารย์ เมื่อฟังธรรมปฏิบัติจากหลวงปู่จบแล้ว ก็อยากทราบถึงวิธีไว้ทุกข์ที่ถูกต้องตามธรรมเนียม 

เขาจึงพูดปรารภต่อไปอีกว่า คนสมัยนี้ไว้ทุกข์ไม่ค่อยจะถูกต้องและตรงกัน ทั้งๆ ที่ ร.๖ ท่านทำไว้เป็นแบบอย่างดีอยู่แล้ว เช่น เมื่อมีญาติพี่น้องหรือญาติผู้ใหญ่ถึงแก่กรรมลง ก็ให้ไว้ทุกข์ ๗ วันบ้าง ๕๐ วันบ้าง ๑๐๐ วันบ้าง แต่ปรากฏว่าคนทุกวันนี้ ทำอะไรรู้สึกว่าลักลั่นกันไม่เป็นระเบียบ ดิฉันจึงขอเรียนถามหลวงปู่ว่า การไว้ทุกข์ที่ถูกต้องนั้น ควรไว้อย่างไรเจ้าคะ 

หลวงปู่บอกว่า 

“ทุกข์ต้องกำหนดรู้ เมื่อรู้แล้วให้ละเสีย ไปไว้มันทำไม” 

............................................................................................. 

จริงตามความเป็นจริง 

สุภาพสตรีชาวจีนคนหนึ่ง ถวายสักการะแด่หลวงปู่แล้ว เขากราบเรียนว่า 

ดิฉันจะต้องไปอยู่ที่อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อทำมาค้าขายอยู่ใกล้ญาติทางโน้น ทีนี้บรรดาญาติๆ ก็เสนอแนะว่า ควรจะขายของชนิดนั้นบ้าง ชนิดนี้บ้าง ตามแต่เขาจะเห็นดีว่าอะไรขายได้ดี ดิฉันยังมีความลังเลใจตัดสินเอาเองไม่ได้ ว่าจะเลือกขายของอะไร จึงให้หลวงปู่ช่วยแนะนำด้วยว่า จะให้ดิฉันขายอะไรจึงจะดีเจ้าคะ 

หลวงปู่บอกว่า 

“ขายอะไรก็ดีทั้งนั้นแหละ ถ้ามีคนซื้อ” 

.................................................................................................



ไม่ได้ตั้งจุดหมายไว้ 

เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๒๒ คณะนายทหารประมาณ ๑๐ กว่านาย เข้านมัสการหลวงปู่เมื่อเวลาค่ำ แล้วก็จะเดินทางต่อเข้ากรุงเทพฯ

ในคณะของนายทหารเหล่านั้น มียศพลโทสองท่าน หลังจากสนทนากับหลวงปู่เป็นเวลาพอสมควรแล้ว ก็ถอดเอาพระเครื่องจากคอของแต่ละท่านรวมใส่ในพานถวายให้หลวงปู่ช่วยอธิษฐานแผ่เมตตาพลังจิตให้ ท่านก็อนุโลมตามความประสงค์แล้วก็มอบให้คืนไป นายพลท่านหนึ่งถามว่าทราบว่ามีเหรียญหลวงปู่ออกมาหลายรุ่นแล้ว อยากถามหลวงปู่ว่ามีรุ่นไหนดังบ้าง

หลวงปู่ตอบว่า

“ไม่มีดัง” 

.............................................................................................

คนละเรื่อง 

มีชายหนุ่มจากต่างจังหวัดไกลสามสี่คนเข้าไปหาหลวงปู่ ขณะที่ท่านนั่งพักผ่อนอยู่ที่มุขศาลาการเปรียญ ดูอากัปกิริยาของเขาแล้วคงคุ้นเคยกับพระนักเลงองค์ใดองค์หนึ่งมาก่อนแล้ว สังเกตจากการนั่ง การพูด เขานั่งตามสบาย พูดตามถนัด ยิ่งกว่านั้นเขาคงเข้าใจว่าหลวงปู่นี้คงสนใจกับเรื่องเครื่องรางของขลังอย่างดี เขาพูดถึงชื่อเกจิอาจารย์อื่นๆ ว่าให้ของดีของวิเศษแก่ตนหลายอย่าง

ในที่สุดก็งัดเอาของมาอวดกันเองต่อหน้าหลวงปู่ คนหนึ่งมีเขี้ยวหมูตัน คนหนึ่งมีเขี้ยวเสือ อีกคนหนึ่งมีนอแรด ต่างคนต่างอวดอ้างว่าของตนดีวิเศษอย่างนั้นอย่างนี้ มีคนหนึ่งเอ่ยว่า หลวงปู่ครับ อย่างไหนแน่ดีวิเศษกว่ากันครับ

หลวงปู่ก็อารมณ์รื่นเป็นพิเศษ ยิ้มๆ แล้วว่า

“ไม่มีดี ไม่มีวิเศษอะไรหรอก เป็นของสัตว์เดียรัจฉานเหมือนกัน” 

.............................................................................................

ปรารภธรรมะให้ฟัง 

คราวหนึ่ง หลวงปู่กล่าวปรารภพระธรรมให้ฟังว่า เราเคยตั้งสัจจะอ่านพระไตรปิฎกจนจบในพรรษาที่ ๒๔๙๕ เพื่อสำรวจดูว่าจุดจบของพระพุทธศาสนาอยู่ตรงไหน ที่สุดแห่งสัจธรรมหรือที่สุดของทุกข์นั้นอยู่ตรงไหน พระพุทธองค์ทรงกล่าวสรุปไว้ว่าอย่างไร ครั้นอ่านไป ตริตรองไปกระทั่งถึงจบ ก็ไม่เห็นตรงไหนที่มีสัมผัสอันลึกซึ้งถึงจิตของเรา ให้ตัดสินได้ว่านี่คือที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ ที่สุดแห่งมรรคผล หรือที่เรียกว่านิพพาน

มีอยู่ตอนหนึ่ง คือ ครั้งนั้นพระสารีบุตรออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ๆ พระพุทธเจ้าตรัสถามเชิงสนทนาธรรมว่า

“สารีบุตร สีผิวของเธอผ่องใสยิ่งนัก วรรณะของเธอหมดจดผุดผ่องยิ่งนัก อะไรเป็นวิหารธรรมของเธอ” 


พระสารีบุตรกราบทูลว่า “ความว่างเปล่าเป็นวิหารธรรมของข้าพระองค์” (สุญฺญตา) 

ก็เห็นมีเพียงแค่นี้แหละ ที่มาสัมผัสจิตของเรา

.............................................................................................

แนะนำตามวิทยฐานะ 

พระอาจารย์สุจินต์ สุจิณโณ จบนิติฯ จากธรรมศาสตร์นานแล้ว มีความเลื่อมใสในทางปฏิบัติธรรม เคยไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงปู่หลุยเป็นเวลาหลายปี

ต่อมาเมื่อได้ยินกิตติศัพท์หลวงปู่ดูลย์ จึงลาหลวงปู่หลุยมาปฏิบัติกับหลวงปู่ ตลอดถึงขอบรรพชาอุปสมบทอยู่ตลอดมา อยู่กับหลวงปู่พอสมควรแก่ความต้องการแล้ว จึงกราบลาเพื่อเดินทางธุดงค์วิเวกต่อไป

หลวงปู่แนะนำว่า

“เรื่องของพระวินัยนั้น ให้ศึกษาอ่านตำรับตำราให้เข้าใจ ให้ถูกต้องทุกข้อมูล เพื่อปฏิบัติไม่ให้ผิด ส่วนธรรมะนั้นถ้าอ่านมากก็จะมีวิตกวิจารณ์มาก จึงไม่ต้องอ่านก็ได้ ขอให้ตั้งใจปฏิบัติเอาเพียงอย่างเดียวก็พอ”

.............................................................................................

แนะนำหลวงตาแนน 

หลวงตาแนน บวชเมื่อวัยเลยกลางคนไปแล้ว หนังสือก็อ่านไม่ค่อยออกสักตัว ภาษากลางก็พูดไม่ได้สักคำ ดีอย่างเดียว คือเป็นคนตั้งใจดี ขยันปฏิบัติกิจวัตรไม่ขาดตกบกพร่อง ว่าง่ายสอนง่าย เมื่อเห็นพระรูปอื่นเขาออกไปธุดงค์ หรืออยู่กับสำนักปฏิบัติกับครูบาอาจารย์อื่นๆ ก็อยากจะไปกับเขาด้วย จึงไปลาหลวงปู่

เมื่อหลวงปู่อนุญาตแล้ว หลวงตาแนนกลับวิตกว่า กระผมไม่รู้หนังสือ ไม่รู้ภาษาพูดเขา จะปฏิบัติกะเขาได้อย่างไร

หลวงปู่แนะนำว่า

“การปฏิบัติไม่ได้เกี่ยวกับอักขระพยัญชนะหรือคำพูดอะไรหรอก ที่รู้ว่าตนไม่รู้ก็ดีแล้ว วิธีปฏิบัตินั้น ส่วนวินัยให้พยายามดูแบบอย่างเขา แบบอย่างครูบาอาจารย์ ผู้นำ อย่าทำให้ผิดแผกจากท่าน ส่วนธรรมะให้ดูที่จิตของตัวเอง ปฏิบัติที่จิต เมื่อเข้าใจจิตแล้วอย่างอื่นก็เข้าใจได้เอง” 

..........................................................................................



ภาระและปัญหาประจำ 

การปกครองและการบริหารหมู่คณะใหญ่ นอกจากจะต้องแก้ปัญหาเล็กใหญ่อย่างอื่นแล้ว ก็มีปัญหาขาดแคลนพระเจ้าอาวาส

เราเคยได้ยินแต่การแย่งเป็นสมภารกัน แต่ลูกศิษย์หลวงปู่นั้นต้องปลอบ ต้องบังคับให้ไปเป็นสมภาร ไม่เว้นแต่ละปี ที่มีญาติโยมยกขบวนมาขอให้หลวงปู่ส่งพระไปเป็นเจ้าอาวาส

เมื่อหลวงปูเห็นว่าองค์ไหนสมควรไปก็ขอร้องให้ไป ส่วนมากเมื่อไม่อยากไปก็มักจะอ้างว่า กระผมก่อสร้างไม่เก่ง อบรมไม่เป็น เทศน์ไม่ได้ ประชาสัมพันธ์หรือรับแขกไม่คล่อง เป็นต้น จึงยังไม่อยากจะไป

หลวงปู่ก็สอนว่า

“สิ่งเหล่านั้นไม่จำเป็นเท่าไหร่หรอก เรามีหน้าที่ปฏิบัติกิจวัตรเท่านั้นเอง บิณฑบาต ฉัน แล้วก็นั่งภาวนา เดินจงกรม ทำความสะอาดลานวัด เคร่งครัดตามธรรมวินัย แค่นี้ก็พอแล้ว การก่อสร้างอะไรๆ มันแล้วแต่ญาติโยม เขาจะทำหรือไม่ทำก็แล้วแต่เขา” 

.............................................................................................

ปรารภธรรมะให้ฟัง 

หลวงปู่สรงน้ำวันละหนึ่งครั้ง เวลาบ่ายห้าโมง เฉพาะน้ำร้อนที่ผสมให้อุ่นแล้ว กระทำอยู่อย่างนี้จนตลอดอายุขัยของท่าน โดยมีพระเณรผู้อยู่รับใช้ช่วยสรงถวายท่าน

หลังจากเช็ดตัวแห้งดี จิตใจปลอดโปร่งแล้ว ท่านมักจะปรารภธรรมะให้ฟัง แล้วแต่จะมีธรรมะข้อใดปรากฏขึ้นในขณะนั้น เช่น ครั้งหนึ่งท่านปรารภว่า

“ภิกษุเรา ถ้าปลูกความยินดีในเพศภาวะของตนได้แล้ว ก็จะมีแต่ความสุข เยือกเย็น ถ้าตัวเองอยู่ในเพศภิกษุ แต่กลับไปยินดีในเพศอื่น ภาวะอื่น ความทุกข์ก็จะทับถมอยู่ร่ำไป หยุดกระหาย หยุดแสวงหาได้ นั่นคือภิกษุภาวะโดยแท้ ความเป็นพระนั้น ยิ่งจน ยิ่งมีความสุข” 

.............................................................................................

ปรารภธรรมะให้ฟัง 

จบพระไตรปิฎกหมดแล้ว จำพระธรรมได้มากหลาย พูดเก่ง อธิบายได้อย่างซาบซึ้ง มีคนเคารพนับถือมาก ทำการก่อสร้างวัตถุไว้ได้อย่างมากมาย หรือสามารถอธิบายถึง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้อย่างละเอียดแค่ไหนก็ตาม ถ้ายังประมาทอยู่ ก็นับว่ายังไม่ได้รับรสชาติของพระศาสนาแต่ประการใดเลย เพราะสิ่งเหล่านี้ยังเป็นของภายนอกทั้งนั้น

เมื่อพูดถึงประโยชน์ก็เป็นประโยชน์ภายนอก คือ เป็นไปเพื่อสงเคราะห์สังคม เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่น เพื่อสงเคราะห์อนุชนรุ่นหลัง หรือเป็นสัญลักษณ์ของศาสนวัตถุ ส่วนประโยชน์ของตนที่แท้นั้นคือความพ้นทุกข์

“จะพ้นทุกข์ได้ก็ต่อเมื่อรู้จิตหนึ่ง” 

.............................................................................................

คิดไม่ถึง 

สำนักปฏิบัติแห่งหนึ่งซึ่งเป็นสาขาของหลวงปู่นั่นเอง อยู่ด้วยกันเฉพาะพระประมาณห้าหกรูป อยากจะเคร่งครัดเป็นพิเศษ ถึงขั้นสมาทานไม่พูดจากันตลอดพรรษา คือ ไม่ให้มีเสียงเป็นคำพูดออกจากปากใคร ยกเว้นการสวดมนต์ทำวัตร หรือสวดปาฏิโมกข์ เท่านั้น

ครั้นออกพรรษาแล้ว พากันไปกราบหลวงปู่ เล่าถึงการปฏิบัติอย่างเคร่งของพวกตนว่า นอกจากปฏิบัติข้อวัตรอย่างอื่นแล้ว สามารถหยุดพูดได้ตลอดพรรษาอีกด้วย

หลวงปู่ฟังแล้วยิ้มหน่อยหนึ่ง พูดว่า

“ดีเหมือนกัน เมื่อไม่พูดก็ไม่มีโทษทางวาจา แต่ที่ว่าหยุดพูดได้นั้น เป็นไปไม่ได้หรอก นอกจากพระอริยบุคคลผู้เข้านิโรธสมาบัติขั้นละเอียด ดับสัญญาเวทนาเท่านั้นแหละ ที่ไม่พูดได้ นอกนั้นพูดทั้งวันทั้งคืน ยิ่งพวกที่ตั้งปฏิญาณว่าไม่พูดนั่นแหละ ยิ่งพูดมากกว่าคนอื่น เพียงแต่ไม่ออกเสียงให้คนอื่นได้ยินเท่านั้นเอง” 

.............................................................................................

อย่าตั้งใจไว้ผิด 

นอกจากหลวงปู่จะนำปรัชญาธรรมที่ออกมาจากจิตของท่านมาสอนแล้ว โดยที่ท่านเคยอ่านพระไตรปิฎกจบมาแล้ว ตรงไหนที่ท่านเห็นว่าสำคัญและเป็นการเตือนใจในทางปฏิบัติให้ตรงและลัดที่สุด ท่านก็จะยกมากล่าวเตือนอยู่เสมอ เช่น หลวงปู่ยกพุทธพจน์ตอนหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า

“ภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้ เราประพฤติมิใช่เพื่อหลอกลวงคน มิใช่เพื่อให้คนมานิยมนับถือ มิใช่เพื่ออานิสงส์ลาภสักการะและสรรเสริญ มิใช่อานิสงส์เป็นเจ้าลัทธิหรือแก้ลัทธิอย่างนั้นอย่างนี้ ที่แท้พรหมจรรย์นี้ เราประพฤติเพื่อสังวระความสำรวม เพื่อปหานะ ความละ เพื่อวิราคะความหายกำหนัดยินดี และเพื่อนิโรธะความดับทุกข์ ผู้ปฏิบัติและนักบวชต้องมุ่งตามแนวทางนี้ นอกจากแนวทางนี้แล้ว ผิดทั้งหมด”

................................................................................................