วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๑๐.สู่.....ความเป็นสมณะ



     ในที่สุด เวลาที่สามเณรรอคอยก็มาถึง เป็นวันที่มีความหมายอันยิ่งใหญ่ของการเข้ามาสู่วิถีชีวิตตามรอยโพธิญาณอย่างสมบูรณ์ สามเณรจะได้รับอนุญาตให้ตัดเย็บย้อมผ้าสังฆาฏิ เตรียมอัฐบริขารและซักซ้อมพิธีอุปสมบท หลังจากได้ต่อสู้ฝ่าฟันกับอุปสรรคนานัปการ ทั้งความทุกข์ยากลำบากในการเปลี่ยนไปจากชีวิตเก่ามาสู่ชีวิตใหม่ในวัด การมิได้ดังใจปรารถนาจากขั้นตอนการทดสอบศรัทธา การทรมานแก้จริตนิสัยในสันดานมาเป็นเวลาเนิ่นนานกว่า ๑ ปี

     กาลเวลา ข้อวัตรปฏิบัติ และคำสั่งสอนจากครูบาอาจารย์ เป็นประดุจน้ำบริสุทธิ์ที่หลั่งชโลมลงมาชำระล้างจิตใจที่สกปรกโสมมด้วยกิเลสตัณหา ให้สะอาดบริสุทธิ์ขึ้นบ้างเพื่อเหมาะสมต่อการเข้าสู่ความเป็นสมณะ “กายวาจาถูกชำระสะสางให้สะอาด สงบ มีระเบียบ มีความสำรวมระวังด้วยศีล ใจถูกอบรมข่มพยศด้วยการฝึกหัดปฏิบัติภาวนา พร้อมกับฝึกสร้างนิสัยให้เสียสละ อดทน พากเพียร ด้วยกิจวัตรประจำวันที่ต้องกระทำร่วมกันในหมู่คณะ”

     การอุปสมบทในวัดหนองป่าพง ดำเนินไปด้วยความสงบและเรียบง่าย ปราศจากขบวนเถิดเทิง แตรวง เรียกขวัญนาค และไม่มีมรหสพบันเทิงรื่นเริงใด ๆ คงมีแต่ความเป็นไปตามพระธรรมวินัย อันเริ่มต้นด้วยศรัทธาของผู้บวช ที่ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวว่าจะใช้ชีวิตในร่มกาสาวพัสตร์นี้ด้วยตนเอง และได้พยายามพากเพียรฝึกฝนมาด้วยความอดทน จนกระทั่งมีคุณสมบัติเพียงพอ พร้อมที่จะดำเนินชีวิตไปบนมรรคาแห่งการพ้นทุกข์ได้

     เมื่อฐานะเปลี่ยนจากสามเณรมาสู่ภิกษุ พระใหม่จะมีความสำรวมระวัง เกรงกลัวต่อบาปหรือความผิดทางพระวินัยที่เรียกว่าอาบัติเป็นอย่างยิ่ง สมณสัญญาที่ได้อบรมสั่งสมมา จะเป็นสัญญาณคอยกระตุ้นเตือน ให้พระใหม่เกิดจิตสำนึกตระหนักถึงเพศภาวะและหน้าที่ของตนอยู่ตลอดเวลา

     ขั้นตอนการคัดเลือกบุคคลเข้าสู่วิถีชีวิตพระกรรมฐานในวัดป่าพงได้สิ้นสุดลง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นจุดเริ่มต้นแห่งชีวิตผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ซึ่งจะต้องต่อสู้กับศัตรู คือ กิเลสตัณหาต่อไปอีก และมิอาจทราบได้ว่าตนจะเป็นผู้ชนะหรือผู้ปราชัย