วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๓.พระธุดงค์กรรมฐาน


      พระธุดงค์กรรมฐาน เรียกสั้น ๆ ว่า “พระกรรมฐาน” หรือ “พระป่า” หมายถึง พระภิกษุผู้มีข้อวัตรปฏิบัติเป็นไปเพื่อกำจัดกิเลส และเป็นอิสระเหนือเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง มีชีวิตอย่างเรียบง่าย มีปัจจัยเครื่องอาศัยจำกัด มุ่งปฏิบัติฝึกหัดอบรมจิตใจให้เข้าถึงความสงบและเกิดปัญญา ด้วยการบำเพ็ญภาวนาสมถะและวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งข้อวัตรเหล่านี้ จะเป็นบันไดนำไปสู่ความบริสุทธิ์บริบูรณ์ในศีล สมาธิ และปัญญา อันเป็นมรรคาแห่งการดับทุกข์


    เส้นทางอันสงบของพระธุดงค์กรรมฐาน มุ่งไปสู่ความเป็นอิสระจากพันธนาการชีวิต ละความเป็นอยู่ที่เต็มไปด้วยความห่วงกังวลและวุ่นวายเร่าร้อนแบบโลก ๆ มาดำรงเพศบรรพชิต


    มีชีวิตเสมือนนกที่อาศัยรังเล็ก ๆ ในป่าเป็นที่พำนักหลับนอน จะโผผินบินไปไหนก็สะดวกและอิสระ เพราะไม่มีสัมภาระมากมาย จะมีอยู่ก็เพียงแต่ปีกและขนเท่านั้นติดไปกับตัว พร้อมที่จะบินในโลกกว้างได้อย่างเสรี


    ชีวิตพระป่า มีเพียงบาตร จีวร และกุฏิหลังเล็ก ๆ ในราวป่าเป็นที่อยู่อาศัย ส่วนบริขารเครื่องใช้สอยส่วนตัว ก็มีเท่าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตเท่านั้น


    จึงกล่าวได้ว่า เป็นวิถีชีวิตที่เบาสบาย ปราศจากความห่วงกังวลดิ้นรนแสวงหาและความผูกมัดอยู่กับสิ่งใด


    ภาพพระภิกษุห่มจีวรสีเหลืองหม่น สะพายบาตร แบกกลดและกระบอกน้ำ จาริกรอนแรมไปสู่สถานที่สงบสงัดต่าง ๆ เช่น ขุนเขา ถ้ำ เงื้อมผา ป่าดงดิบ ป่าช้า และริมลำธาร นั่นคือ “พระธุดงค์กรรมฐาน” ผู้ท่องธุดงค์ไปในขุนเขาลำเนาไพรอย่างเสรี  โดยมีจุดหมายอยู่ที่การแสวงหาประสบการณ์ทางธรรม เพื่อฝึกฝนตนให้มีความเข้มแข็ง อดทน พากเพียร และเพื่อสร้างสมอบรมปัญญา ด้วยการพิจารณาสภาวธรรมที่มีอยู่ในตนเองและในธรรมชาติ ให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรม จนสามารถละทิ้งความยึดมั่นในอัตตาตัวตน มีอิสระอยู่เหนือการย่ำยีจากกิเลสทั้งปวง