วันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๑๐.ประวัติหลวงปู่ชา สุภัทโท - พบธรรม ๖.

กุฏิหลวงปู่ที่วัดถ้ำหินแตก


หาเกาะในใจ

     ในระยะที่จำพรรษาอยู่ที่วัดใหญ่ชัยมงคลนั้น หลวงพ่องดการแสดงธรรมสอนคนอื่นทั้งหมด มุ่งแต่การเจริญสมาธิภาวนาอย่างเดียว เมื่อออกพรรษาแล้วได้เดินทางไปแสวงวิเวกที่เกาะสีชัง ได้รับความสงบทางใจ ตลอดเวลาที่บำเพ็ญธรรมอยู่บนเกาะแห่งนี้เป็นเวลา ๑ เดือน ทำให้ได้คติข้อคิดในทางธรรมว่า

     “ชาวเกาะสีชังได้อาศัยพื้นดินบนเกาะอันมีน้ำทะเลล้อมรอบ พื้นดินบนเกาะที่ตั้งอยู่ได้ต้องอยู่พ้นจากน้ำจริง ๆ เกาะสีชังเป็นที่พึ่งภายนอกของร่างกาย แต่การที่เรามาอาศัยเกาะสีชังก็เพื่อหาเกาะที่พึ่งทางใจ ซึ่งกิเลสตัณหาท่วมไม่ถึง แม้เราจะอยู่บนเกาะสีชัง แต่เราจะต้องค้นหาเกาะภายนใจอยู่ต่อไป เพื่อให้เป็นเกาะที่พึ่งทางใจ เกาะทางใจนี้ล้อมรอบด้วยทะเลแห่งกิเลสตัณหา คนที่ยังไม่พ้นไปจากกิเลส ตัณหา อุปทาน และอกุศลกรรม ก็เปรียบได้กับคนที่ลอยคออยู่ในทะเล ซึ่งมีหวังจมน้ำตาย หรือไม่ก็ต้องผจญกับสัตว์ร้ายในทะเล เช่น ปลาฉลาม เป็นต้น”

     ออกจากเกาะสีชังกลับมาวัดใหญ่ฯ ที่อยุธยาอีกครั้ง พักอยู่นานพอสมควรจึงได้เดินทางขึ้นอีสานกลับไปบ้านเกิดที่อุบลราชธานี พอญาติพี่น้องรู้ข่าว ต่างพากันมานมัสการด้วยความยินดี เพราะจากกันไปนานถึง ๒ ปี โดยไม่ทราบข่าวคราวกันเลย หลวงพ่อกลับมาคราวนี้ก็มีท่าทีน่าศรัทาเลื่อมใสมาก ญาติมิตรจึงให้ความเคารพยำเกรง ท่านแนะนำสิ่งใดทุกคนก็สนใจฟัง ไม่แสดงอาการโต้แย้งใด ๆ ทำให้โยมแม่และญาติพี่น้องหลายคน เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องบาปบุญคุณโทษยิ่งขึ้น คืนหนึ่ง พระเที่ยง โชติธมฺโม ซึ่งเมื่อครั้งเป็นสามเณรเคยได้รับการอบรมสั่งสอนจากหลวงพ่อ ได้เข้ามากราบคารวะขอฟังธรรม และตัดสินใจออกปากฝากตัวเป็นศิษย์ ขอติดตามออกบำเพ็ญกรรมฐาน แต่หลวงพ่อกลับนิ่งเฉยไม่ตอบรับและไม่ปฏิเสธ ทำให้พระเที่ยงเกิดลังเลและรู้สึกผิดหัง เมื่อนั่งนิ่งกันอยู่ชั่วครู่ หลวงพ่อได้เอ่ยขึ้นว่า

“ทำไมถึงอยากไป”
“กระผมเห็นว่าอยู่ที่นี่ไม่มีอะไรดีขึ้น จึงอยากไปปฏิบัติเหมือนครูบาอาจารย์บ้างครับ”
พระเที่ยงตอบพร้อมกับใจชึ้นขึ้นมาเล็กน้อย
“เอ้า! ถ้าจะไปจริง ๆ ให้ท่านทองดี (สามเณรทองดีบวชเป็นภิกษุแล้ว) เขียนแผนที่บอกทางไปบ้านป่าตาให้นะ แล้วไปรอผมอยู่ที่นั่น”

     เมื่อแนะนำแนวทางปฏิบัติแก่ญาติพี่น้องพอสมควรแล้ว หลวงพ่อก็ออกจาริกปฏิบัติภาวนาตามสถานที่วิเวกต่าง ๆ ต่อไป จนกระทั่งถึงบ้านป่าตา อำเภอเลิงนกทา และได้พำนักจำพรรษา ปี พ.ศ.๒๔๙๕ (พรรษาที่ ๑๔) อยู่ที่ลานหินแตก ซึ่งต่อมาชาบ้านเรียกกันว่า วัดถ้ำหินแตก

    ในปีนั้นหลวงพ่อจำพรรษาร่วมกับพระภิกษุสามเณรหลายรูป มีพระเที่ยงกับพระทองดีรวมอยู่ด้วย ท่านได้นำหมู่คณะประพฤติปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์ บางวันเดินจงกรมนั่งสมาธิกันตลอดวันตลอดคืน โดยให้ข้อคิดแก่ศิษย์ว่า

     “อย่าพากันติดในสมมุติบัญญัติจนเกินไป ที่ว่าเป็นกลางวันกลางคืนนั้น มันเป็นการสมมุติของชาวโลกเท่านั้นเอง เมื่อกล่าวโดยปรมัตถธรรมแล้ว ไม่มีกลางวันกลางคืน ไม่มีข้างขึ้นข้างแรม ฉะนั้นเรามาสมมุติกันใหม่ ให้กลางวันเป็นกลางคืน ให้กลางคืนเป็นกลางวันก็ได้ ถ้าเราคิดได้ว่ากลางวันหรือกลางคืนก็ไม่แตกต่างอะไรกัน เราก็จะทำความเพียรโดยไม่อ้างเวลา”

     วันหนึ่ง หลวงพ่อสังเกตเห็นพระเที่ยงฉันยาบางอย่างอยู่เป็นประจำ จึงถามว่า
“ท่านเที่ยง ฉันยาพวกนี้มานานแล้วหรือ?”
“กระผมฉันมาหลายปีแล้วครับ”
“แล้วมันดีขึ้นไหม?”
“พอทุเลาลงบ้างครับ”
หลวงพ่อนิ่งอยู่ชั่วครู่แล้วพูดขึ้นว่า
เออ! ฉันยาพวกนี้ก็นานแล้ว ยังไม่เห็นว่ามันจะหายสักที เอามันโยนทิ้งไปเสีย แล้วมาฉันมาขนานใหม่กัน คือฉันอาหารให้น้อย นอนให้น้อย และพูดให้น้อย แล้วทำความเพียรเดินจงกรมนั่งสมาธิให้มาก ลองทำดูนะ ถ้ามันไม่หาย เราก็ยอมตายไปเสีย”

     ชาวบ้านป่าตาวในสมัยนั้น ส่วนใหญ่เป็นชาวนาที่ค่อนข้างยากจน แม้จะมีจิตศรัทธาต่อการทำบุญกุศล แต่ก็ขัดสนเรื่องความเป็นอยู่ จึงอุปัฏฐากพระสงฆ์ตามมีตามได้แบบชาวบ้านอีสานในสมัยนั้น คือมีข้าวเหนียว พริก เกลือหรือแจ่ว ผักสด ๆ และกล้วยบ้างบางวัน




กินเหยื่อแล้วก็น่าสงสาร

     เมื่อจะอดอยากขาดแคลนสักปานใดหลวงพ่อกับศิษย์ก็คงบากบั่นหมั่นเพียรเจริญภาวนาอย่างไม่ย่อท้อ กลับน้อมเอาความอดอยากขัดสนมาเป็นครูผู้สอนให้มีความอดทน ไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง แต่วันหนึ่งก็มีสิ่งมาทดสอบความมุ่งมั่นของท่าน บริเวณสำนักที่หลวงพ่อพำนักอยู่นั้น ด้านทิศเหนือเป็นแอ่งน้ำใหญ่มีปลาชุกชุมมาก เวลาฝนตกหนักน้ำล้นฝั่ง ปลาก็ตะเกียกตะกายตามน้ำมา เพื่อจะเข้าไปในแอ่งน้ำใหญ่ บางตัวเรี่ยวแรงดี ก็ข้ามคันหินธรรมชาติที่กั้นเป็นขอบแอ่งน้ำขึ้นไปได้ แต่บางตัวหมดกำลังเสียก่อน ก็นอนดิ้นกระเสือกกระสนหายใจพะงาบ ๆ อยู่บนคันหินนั้น หลวงพ่อสังเกตเห็น ก็ได้ช่วยจับมันปล่อยลงไปในแอ่งน้ำอยู่บ่อย ๆ

     เช้าวันหนึ่งก่อนออกบิณฑบาต หลวงพ่อได้เดินไปดูปลาที่คันหินเช่นทุกเช้า พบว่าเช้าวันนั้นมีคนเอาเบ็ดตกมาตกปลาไว้ตามริมแอ่งน้ำเป็นระนาว เห็นมีปลาติดเบ็ดอยู่ ท่านก็ช่วยมันไม่ได้เพราะเบ็ดมีเจ้าของ ได้แต่มองด้วยความสลดใจ รำพึงว่า “เพราะปลากินเหยื่อเข้าไป เหยื่อนั้นมีเบ็ดด้วยปลาจึงติดเบ็ด เห็นปลาติดเบ็ดแล้วก็สงสาร เพราะความหิวแท้ ๆ ปลาจึงกินเหยื่อที่เขาล่อเอาไว้ ดิ้นเท่าไร ๆ ก็ไม่หลุด เป็นกรรมของปลาเองที่ไม่พิจารณา คนเราก็เช่นเดียวกัน หากกินอาหารมูมมามไม่เลือกพิจารณา ย่อมเป็นเหมือนปลาหลงกินเหยื่อแล้วติดเบ็ด เป็นอันตรายแก่ตนเองได้ง่าย ๆ”

     หลังจากไปบิณฑบาตกลับมาเช้าวันนั้น หลวงพ่อได้พบว่า ชาวบ้านได้เอาอาหารพิเศษมาถวาย คือ ต้มปลาตัวโต ๆ ทั้งนั้น ทำให้หลวงพ่อนึกรู้ได้ทันทีว่า ต้องเป็นปลาติดเบ็ดที่ท่านเห็นเมื่อรุ่งเช้านั้นแน่ ๆ บางทีอาจเป็นปลาที่ได้เคยช่วยชีวิตเอามันปล่อยลงน้ำมาแล้วก็ได้ ความรู้สึกรังเกียจไม่อยากฉันทันที เมื่อโยมถวายจึงเพียงแต่รับไว้ตรงหน้าแต่ไม่ยอมฉัน ถึงแม้อาหารไม่ค่อยมี มีแต่ปลาร้าแจ่วบองกับผัก อด ๆ อยาก ๆ ก็ตาม แต่ท่านก็ไม่ยอมฉันต้มปลาของชาวบ้าน เพราะกลัวว่าถ้าฉันไปแล้วโยมอาจดีใจถือว่าคงได้บุญใหญ่ จะไปตกเบ็ดเอาปลาในแอ่งมาต้มแกงถวายอีกในวันต่อ ๆ ไป ในที่สุดปลาก็คงหมดแอ่ง หลวงพ่อจึงหยิบถ้วยต้มปลาส่งให้พระทองดีซึ่งนั่งอยู่ข้าง ๆ พระทองดีสังเกตเห็นหลวงพ่อไม่ฉัน ก็ไม่ยอมฉันเหมือนกัน ชาวบ้านเห็นดังนั้นจึงถามขึ้นมา

“ท่านอาจารย์ บ่ฉันต้มปลาบ้อ ขะหน่อย?”
(ท่านอาจารย์ไม่ฉันต้มหรือครับ?)
“บ่ดอก ซิโตนมัน” หลวงพ่อตอบ
(ไม่หรอก สงสารมัน)
โยมคนนั้นถึงกับอึ้งไปชั่วครู่ แล้วจึงรำพึงว่า
“ถ้าแมนผม คือสิอดบ่ได้ดอก”
(ถ้าเป็นผม คงจะอดไม่ได้หรอก)

นับตั้งแต่นั้น ชาวบ้านก็ไม่มารบกวนปลาในแอ่งน้ำนั้นเลย และพวกเขายังถือกันว่ามันเป็นปลาของวัดที่ควรช่วยกันรักษาอีกด้วย







ปลีกตัว

     ปี พ.ศ.๒๔๙๖ (พรรษาที่ ๑๕) หลวงพ่อกับลูกศิษย์ยังคงพำนักอยู่ที่บ้านป่าตาวต่อเป็นปีที่สอง แต่ในพรรษาหลวงพ่อได้ปลีกตัวไปอยู่ตามลำพังบนภูกอย ซึ่งอยู่ห่างจากถ้ำหินแตกประมาณ ๓ กิโลเมตร และได้มอบหมายให้พระอาจารย์อวน ปคุโณ เป็นผู้ดูแลภิกษุสามเณรในที่พักสงฆ์ถ้ำหินแตกแทนชั่วคราว ตอนเช้าหลวงพ่อออกบิณฑบาตแล้วกลับมาฉันภัตตาหารร่วมกับภิกษุสามเณร ฉันเสร็จก็กลับขึ้นไปบำเพ็ญธรรมที่ภูกอยตามเดิม

     สำหรับกติกาที่ท่านได้กำหนดขึ้นเพื่อให้ภิกษุสามเณรทุกรูปที่จำพรรษาอยู่ ณ ที่พักสงฆ์ถ้ำหินแตก ได้ยึดถือเป็นหลักปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตลอดพรรษาก็คือ ไม่ให้จำวัด (นอน) ในเวลากลางคืน ให้ทำความเพียร เป็นต้นว่า เดินจงกรม นั่งสมาธิ สลับกันไปจนตลอดคืน พอสว่างได้เวลาก็ออกบิณฑบาตไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ระยะทางบิณฑบาตบางหมู่บ้านก็ ๓ กิโลเมตร บางหมู่บ้านก็ ๕-๖ กิโลเมตร กว่าจะกลับมาฉันก็เวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น. ฉันเสร็จล้างบาตรกลับกุฏิเวลา ๑๐.๐๐ น. กลับถึงกุฏิทำความเพียร ได้เวลาพอสมควรจึงพักผ่อนจำวัด จนถึงเวลา ๑๕.๐๐ น. ตีระฆังเป็นสัญญาณให้ลุกขึ้นกวาดลานวัดหรือกระทำกิจอื่น ๆ ถ้าหากมี เวลา ๑๘.๐๐ น. ให้เสียงสัญญาณระฆัง ทำวัตรเย็น หลังจากนั้นก็ทำคามเพียรต่อไปจนตลอดคืน ๒ เดือนแรก ให้ภิกษุสามเณรทุกรูปถือปฏิบัติตามอัธยาศัย แล้วแต่ใครจะนั่งสมาธิหรือเดินจงกรมกี่ชั่วโมงก็ได้สลับกันไปเรื่อย ๆ พอเดือนสุดท้ายให้ทำอย่างเดียวก็คือ คืนไหนใครอยากจะเดินจงกรมตลอดคืนจนสว่างก็ได้ หรือจะนั่งสมาธิอย่างเดียวจนสว่างก็ได้ ไม่ให้สลับกัน ภายในคืนนั้น ส่วนหลวงพ่อท่านก็เร่งปฏิบัติของท่านอย่างหนักเช่นเดียวกัน เมื่อถึงันอุโบสถท่านจึงจะให้โอวาทแก่ภิกษุสามเณรและญาติโยมครั้งหนึ่ง วันธรรมดาก็ให้ทุกคนถือปฏิบัติตามระเบียบข้อกติกาที่ได้ตกลงกันไว้ทุกประการตลอดพรรษา





ป่วยแต่กาย

     ในระหว่างที่พำนักอยู่โดดเดี่ยวบนภูกอย หลวงพ่ออาพาธด้วยโรคเหงือกบวมทั้งข้างบนข้างล่างเจ็บปดทุกข์เหลือจะพรรณนา ได้รักษาด้วยอำนาจตบะธรรม มีขันติความอดทนเป็นที่ตั้งทำจิตให้สงบ แล้วพิจารณาว่าความจริง เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้ หลวงพ่ออดทนอดกลั้น ฝึกให้รู้เท่าทันสภาวธรรมที่ปรากฏ สู้ด้วยอำนาจสมาธิและปัญญา จนแยกโรคปวดฟันซึ่งเป็นอาการทางกายให้ขาดออกจากใจ ไม่ยอมให้ใจป่วยพร้อมกับกายด้วยเป็นโรค ๒ ชั้น โรคปวดฟันได้ทรมานสังขารของหลวงพ่อ ๗ วัน จึงได้หายไปด้วยอำนาจธรรมโอสถ

     พอออกพรรษาหลวงพ่อลงมมาพักที่วัดถ้ำหินแตก แล้วให้พระเณรแยกย้ายกันไปภาวนาในป่าตามลำพัง กำหนดให้ ๗ วันมารวมกันที่ลานหินแตกครั้งหนึ่ง หลวงพ่อพาลูกศิษย์ประพฤติปฏิบัติเช่นนั้น จนกระทั่งถึงปลายเดือน ๓ ของปี พ.ศ.๒๔๙๗ โยมแม่พิมพ์ (โยมมารดาของหลวงพ่อ) พร้อมกับผู้ใหญ่ลา (พี่ชาย) และญาติมิตรชาวบ้านก่ออีก ๕ คน ได้เดินทางมานิมนต์หลวงพ่อ ให้กลับไปโปรดญาติโยมทางบ้านก่อบ้าง

     หลวงพ่อพิจารณาเห็นว่า ถึงเวลาสมควรแล้วที่จะได้ให้ธรรมานุเคราะห์แก่ผู้มีพระคุณ จึงรับนิมนต์ และให้โยมแม่พิมพ์กับญาติมิตรขึ้นรถกลับไปก่อน จากนั้นหลวงพ่อได้เรียกลูกศิษย์มาประชุมกัน แล้วมอบให้พระเที่ยง พระทองดีกับพระเณรบางส่วน อยู่ดูแลสำนัก (ต่อมาพระเที่ยงได้ติดตามไปอยู่กับหลวงพ่อที่วัดหนองป่าพง ส่วนพระทองดีไปเรียนปริยัติธรรมที่กรุงเทพฯ) เมื่อตกลงกันเรียบร้อยแล้ว หลวงพ่อกับพระภิกษุสามเณรอีกส่วนหนึ่ง ก็อำลาชาวบ้านป่าตาว ออกเดินทางกลับสู่มาตุภูมิ