วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๑๖.ห่มจีวร


         หลังจากจัดที่ฉัน เตรียมบาตรเสร็จเรียบร้อย ภิกษุสามเณรจะออกมาห่มจีวรที่ระเบียงโรงฉัน

ธรรมเนียมการนุ่งห่มของพระกรรมฐาน นุ่งห่มด้วยความเรียบร้อย คือนุ่งสบงเป็นปริมณฑล ข้างบนปิดสะดือ ข้างล่างปกครึ่งแข้ง ผูกรัดประคด ซ้อนผ้าสังฆาฏิกับจีวรเข้าด้วยกัน ห่มคลุมและกลัดรังดุม

พระใหม่ หรือ พระผู้มีลำดับพรรษาอ่อนกว่ากัน จะช่วยพระอาวุโสห่มจีวร โดยคลี่ผ้าสังฆาฏิซ้อนกับจีวรให้ แล้วนั่งคุกเข่าประนมมือขอโอกาสอยู่เบื้องหน้า เพื่อติดรังดุมจีวรเข้าด้วยกัน ต่อจากนั้นจึงห่มจีวรของตน

การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แม้ในกิจเล็กน้อยเช่นนี้ แต่มีความหมายอันยิ่งใหญ่ แสดงออกถึงสภาวะจิตใจของทั้งพระใหม่และพระอาวุโส

ในด้านพระใหม่นั้น จะได้มองเห็นซึ่งทิฏฐิมานะของตนว่า ยังแสดงพลังอหังการอยู่เช่นเดิมหรือไม่ ถ้ายังคุกรุ่นรุนแรงอยู่ก็แสดงว่า การปฏิบัติธรรมของตนยังไม่บังเกิดผลดีเท่าที่ควร ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะสิ่งที่คิดว่าเพียงเล็กน้อย ก็สามารถกลับกลายเป็นกำแพงอันสูงใหญ่ ปิดกั้นการเข้าถึงความสงบและปัญญาได้

ส่วนทางด้านพระอาวุโส ก็จะได้มีจิตสำนึกตระหนักถึงฐานะของตนว่า ที่ดำรงเพศบรรพชิตมาเป็นเวลาเนิ่นนานขนาดนี้ จนเป็น “พระเถระผู้ใหญ่” เป็นครูอาจารย์ ตนได้มีคุณธรรมอันควรแก่เคารพ หรือเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สานุศิษย์และภิกษุใหม่หรือยัง งกิจเหล่านี้เป็นหนทางให้ได้ศึกษาภาวะจิตใจของทั้งสองฝ่าย

การช่วยเหลือเกื้อกูลกันในลักษณะอย่างนี้ สร้างความสนิทสนมคุ้นเคยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่คณะ เกิดความสามัคคีมีเมตตากรุณา มีความอบอุ่นใจในการดำเนินชีวิตร่วมกัน ซึ่งจะส่งเสริมให้การบำเพ็ญสมณธรรมเป็นไปด้วยดี